ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) ครั้งที่ ๒ ที่กรุงเทพมหานคร

ข่าวต่างประเทศ Friday September 23, 2016 13:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

รัฐบาลไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๒ (2nd ACD Summit) ระหว่างวันที่ ๘-๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่กรุงเทพมหานคร

กรอบความร่วมมือเอเชียเป็นความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศไทยได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้าด้วยกัน เป็นเวทีในการหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และหามาตรการหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการรวมตัวในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอเชีย โดยแรกเริ่ม ACD มีประเทศสมาชิกก่อตั้งจำนวน ๑๘ ประเทศ และได้ขยายจำนวนประเทศสมาชิกจนครอบคลุมทุกอนุภูมิภาคเอเชียเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๔ ประเทศในปัจจุบัน โดยสมาชิกล่าสุด คือ เนปาล (มี.ค. ๒๕๕๙)

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งในแง่การเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาคม เอเชียและประชาคมโลกที่มีต่อไทย และการมีบทบาทนำที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะผู้ริเริ่มกรอบ ACD และในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๙ โดยการประชุมจะจัดขึ้นในหัวข้อ “เอเชียหนึ่งเดียว: หลากหลายในพลัง (One Asia, Diverse Strengths)” ซึ่งไทยจะผลักดันความร่วมมือใน ๖ เสาหลักของ ACD เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยง (๒) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (๓) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากร (๔) ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (๕) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ (๖) การส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน

ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานและขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนของ ACD จะผลักดันให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือในการขจัดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคเอเชีย โดยจะนำเสนอแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศจากประสบการณ์ของไทยในการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนา ด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิก ACD ทั้ง ๓๔ ประเทศ จะหารืออย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้ประเทศสมาชิกใช้จุดแข็งเรื่องความหลากหลายของเอเชียมาช่วยขับเคลื่อนศักยภาพในการสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจของโลก และขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างอนุภูมิภาคในเอเชีย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือเอเชีย อันจะนำไปสู่การสร้างประชาคมเอเชียในปี ๒๕๗๓ (ค.ศ.๒๐๓๐) โดยคาดว่า จะมีเอกสารผลลัพธ์จากการประชุม ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญากรุงเทพฯ และ (๒) เอกสารวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. ๒๐๓๐

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ริเริ่มแนวคิดให้ ACD มีปฏิสัมพันธ์กับภาคเอกชนมากขึ้น โดยในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๙ จะมีการจัดการประชุมภาคธุรกิจ “ACD Connect Business Forum 2016” ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังเชื่อมโยงนวัตกรรมการเงินเพื่อเอเชียที่ยั่งยืน (Innovative Financial Connectivity for a Sustainable Asia)” ซึ่งจะมีนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของเอเชียและผู้แทนภาคธุรกิจจาก ๓๔ ประเทศสมาชิก ACD เข้าร่วมการประชุมด้วย โดยจะเน้นการหารือใน ๒ ประเด็น ได้แก่ ๑) รูปแบบธุรกิจการเงินแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และ ๒) การระดมทุนผ่านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Financing Infrastructure) ทั้งนี้ ผู้แทนภาคธุรกิจจะนำเสนอข้อคิดเห็นต่อผู้นำและผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ด้วย

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ