ผลการประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ ๗

ข่าวต่างประเทศ Friday October 28, 2016 13:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนพิเศษของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา – แม่โขง หรือ ACMECS ครั้งที่ ๗ ที่กรุงฮานอย พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด ACMECS ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิก ACMECS โดยประเทศไทยได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอนุภูมิภาค ACMECS ที่จะทำให้สมาชิก ACMECS สามารถรวมตัว เติบโตและพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียนและของโลก ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงที่สมบูรณ์รอบด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลและเงินทุน การผลักดันความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาระหว่างกันของประเทศในอนุภูมิภาคโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการธำรงรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิก ในการนี้ ประเทศไทยได้เน้นย้ำถึงการเชื่อมโยงอนุภูมิภาค ACMECS ในมิติต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นแนวทางในการพัฒนา

ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้นำจากประเทศสมาชิก ACMECS ได้แก่ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรองนายกรัฐมนตรีไทย ได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม คือ ปฏิญญากรุงฮานอย ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือที่แนบแน่นกันระหว่างสมาชิก ACMECS ในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ได้แก่ การคมนาคม การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารภายในของ ACMECS

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานในช่วงการประชุมสุดยอด ACMECS ครั้งที่ ๗ ดังต่อไปนี้

๑) การประชุม World Economic Forum on the Mekong Region ซึ่งจัดโดย World Economic Forum (WEF) เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ โดยผู้นำประเทศสมาชิก ACMECS ได้ร่วมกันกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อผู้เข้าร่วมการประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน

และภาคประชาสังคม การประชุมดังกล่าวเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างทุกภาคส่วนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตของอนุภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับกลไกประชารัฐที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ

๒) การเข้าเยี่ยมคารวะนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ภายหลังจากการประชุม WEF ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีในมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างกันโดยย้ำว่าไทยและเวียดนามเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อกัน และความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้ยังประโยชน์เฉพาะเพียงแก่สองประเทศเท่านั้น แต่หมายรวมถึงประโยชน์ของประเทศสมาชิก ACMECS ทุกประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงความร่วมมือระหว่างกันในด้านการค้าการลงทุนเกษตรกรรม การพัฒนาความเชื่อมโยงและเทคโนโลยี ในการนี้ ฝ่ายไทยและเวียดนามยังได้ตกลงให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างกันในปี ๒๕๖๐ เพื่อติดตามความคืบหน้าและพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ต่อไปด้วย

ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือซึ่งริเริ่มโดยไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาแบบยั่งยืนร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ