ผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ครั้งที่ ๒๔ (24th APEC Economic Leaders’ Meeting)

ข่าวต่างประเทศ Friday November 25, 2016 15:50 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๙ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๔ (24th APEC Economic Leaders’ Meeting) ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศชั้นนำที่ไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อ ๒๘ ปีที่แล้ว ซึ่งเอเปคถือเป็นกลไกความร่วมมือที่เสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ และการปฏิรูปประเทศจากปัจจัยสนับสนุนภายนอก เช่นเดียวกับอาเซียนและ OECD

ในระหว่างการประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจฯ ได้ร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๔ พร้อมเอกสารแนบ ได้แก่ ปฏิญญาลิมาว่าด้วยเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของการค้าบริการเอเปค (APEC Services Competitiveness Roadmap) ทั้งนี้ การประชุมฯ มีการหารือ ๒ ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเปิดเสรี โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจฯ ได้หารือถึงความท้าทายของการค้าเสรีและการลงทุนในบริโลกปัจจุบัน และเห็นพ้องในการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific - FTAAP) การเปิดเสรีการค้าภาคบริการ และการสื่อสารทำความเข้าใจและกระจายประโยชน์ของการเปิดเสรีให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้นเพื่อลดกระแสต่อต้านการค้าเสรี (Protectionism)

2. การเติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้แก่ การสนับสนุนวิหสากิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises- MSMEs) ในระบบเศรษฐกิจภายในและระหว่างประเทศ ความมั่นคงด้านอาหารกับการรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำความมุ่งมั่นของไทยต่อวาระเอเปคข้างต้น โดยเฉพาะการจัดทำ FTAAP การสร้างระบอบการค้าเสรีที่ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกที่มีความแตกต่างด้านการพัฒนา การใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ และการค้าภาคบริการ ควบคู่กับการเสริมสร้างศักยภาพ (Capacity Building) ในประเด็นใหม่ ๆ โดยได้แสดงความจำนงในประเด็นความพร้อมของไทยในการเป็นผู้ขับเคลื่อน MSMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน (Green and Sustainable MSMEs) ความมั่นคงทางด้านอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืน การเชื่อมโยงด้านดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของเอเปคหลังปี ๒๐๒๐ ที่ควรสร้างสมดุลระหว่างมิติด้านการค้าการลงทุน และมิติด้านการพัฒนา

นอกจากนี้ รอง นรม. ได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ ดังนี้

๑. การหารือระหว่างผู้นำฯ กับสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) เรื่องขับเคลื่อนการเปิดเสรีและเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสังคม

๒. การหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance – PA) ครั้งที่ ๒ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียน-PA และเสนอความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่าง APEC-PA ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริม SME/ Start-up การศึกษา และการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI)

๓. การหารืออย่างไม่เป็นทางการกับนาย Mark Zuckerberg, CEO บริษัท Facebook เรื่องบทบาทของอินเทอร์เน็ตในการช่วยพัฒนาความเชื่อมโยง ส่งเสริมการศึกษา รวมถึงบริการภาครัฐ โดยรองนายกรัฐมนตรีเชิญนาย Zuckerberg กล่าวปาฐกถาที่ไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ด้วย

๔. การหารือกับนางสาว Christine Lagarde ผู้อำนวยการ IMF เรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้อำนวยการ IMF ขอให้เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ มุ่งมั่นปฏิรูปประเทศ ส่งเสริมการค้า การลงทุน และหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้า โดยไทยพร้อมร่วมมือกับ IMF

๕. การหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกีนี เรื่องการเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกันในด้านการผลิตอาหาร พลังงาน และการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๑ ของปาปัวนิวกีนี และ

6. การพบปะกับ US-APEC Business Council และหารือในประเด็นการลงทุนในประเทศไทย เช่น ระบบ e-Payment เป็นต้น

อนึ่ง เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี ๒๕๖๐ และไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ