เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. ... และอนุมัติข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็กนักเรียนนักศึกษาและบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไร้รัฐ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้น จะให้สิทธิแก่บุตรของคนต่างด้าวทุกกลุ่มที่เกิดในประเทศไทยสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ตามสิทธิของบิดามารดา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมิให้เด็กเหล่านี้ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย
๒. แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็กนักเรียนนักศึกษาและบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักรไทย จะทำให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวสามารถขอสัญชาติไทยได้ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ (๑) บิดามารดาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำทะเบียนและออกบัตรประจำตัวไว้แล้ว และได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี หรือ (๒) บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยในข้อ (๑) แต่เด็กได้เรียนหนังสือจนได้รับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า นอกจากนั้น เด็กที่อยู่ระหว่างศึกษา สามารถขอรับการพิจารณาขอสัญชาติไทยได้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนเด็กที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์จนไม่สามารถพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงได้ว่าใครเป็นบิดามารดา สามารถขอสัญชาติไทยได้เช่นกันหากอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี และมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งคาดว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้เด็กสามารถขอสัญชาติไทยได้มากถึง ๘๐,๐๐๐ คน
มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งสองข้างต้นมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิของเด็กที่เกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานไม่น้อยกว่า ๑๐ – ๒๐ ปี และเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทย ในฐานะภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) นอกจากนั้น ยังเป็นการเน้นย้ำเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของประเทศในการแก้ไขปัญหาบุคคลไร้รัฐ รวมทั้งในฐานะประเทศตัวอย่างในเวทีระหว่างประเทศที่มีความแข็งขันและความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--