นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ ในนามของรัฐบาลไทย ให้แก่ นาย Rafael Correa ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเอกวาดอร์ ในนามของเอกวาดอร์ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๐ โดยมี นาย Ant?nio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ และนาย Durga Prasad Bhattarai รักษาการประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๗๑ เข้าร่วมด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงอำลาตำแหน่งประธานกลุ่มฯ โดยเน้นย้ำว่า ความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของกลุ่มฯ ไม่ว่าจะเป็นการวางรากฐานและงบประมาณรองรับการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อตกลงปารีส และวาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda) การผลักดันท่าทีของกลุ่มฯ ในประเด็นท้าทายใหม่อย่างการดื้อยาต้านจุลชีพ (Anti Microbial Resistance – AMR) หรือการประสานท่าทีกลุ่มฯ ในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างคำจำกัดความของครอบครัว ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นได้เพราะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ และยึดผลประโยชน์โดยรวมของสมาชิกกลุ่ม ๗๗ เป็นที่ตั้ง โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
นอกจากนี้ ไทยยังได้ผลักดันให้มีการหารือในประเด็นที่มีความสำคัญต่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ การลงทุน การใช้ประโยชน์จาก ICT และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประเทศสมาชิกกลุ่ม ๗๗ และแม้ว่า วาระการเป็นประธานกลุ่มของไทยจะสิ้นสุดลง แต่ไทยจะยังคงร่วมมือกับ
ประเทศสมาชิกกลุ่ม ๗๗ ที่สนใจจะนำ SEP ไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน ผ่านโครงการ “SEP for SDGs Partnership” และการให้เงินทุนกับ P?rez-Guerrero Trust Fund เพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ รวมถึงจะผลักดันการบรรลุ SDGs ผ่านตัวอย่างของการดำเนินการตาม SEP ในเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน และ ACD ต่อไป
ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์การดำเนินการของกลุ่มในปี ๒๕๖๐ โดยจะผลักดันการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความสงบสุข ความยุติธรรม และความเท่าเทียม ขจัดความยากจนและกระจายรายได้ รวมถึงสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ยังได้กล่าวยกย่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะแนวทางหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดดั้งเดิมของเอกวาดอร์ที่เน้นความเป็นอยู่ที่ดี (Living Well) โดยการหาสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการสร้างสังคมที่ดี
เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวชื่นชมการทำหน้าที่ประธานของไทย ที่ได้นำกลุ่ม ๗๗ ขับเคลื่อนวาระด้านการพัฒนาที่สำคัญของโลก กล่าวคือ การดำเนินการตามวาระ ๒๐๓๐ รวมถึงความตกลงปารีส ในช่วงปีที่ผ่านมาและสำหรับปี ๒๕๖๐ ตนจะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปหน่วยงานด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ซึ่งต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากกลุ่ม ๗๗
รักษาการประธานสมัชชาสหประชาชาติ กล่าวถ้อยแถลงยืนยันความตั้งใจของประธานสมัชชาสหประชาชาติที่จะทำงานร่วมกับกลุ่ม ๗๗ อย่างใกล้ชิดในปี ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นปีที่มีความสำคัญ เนื่องจากสหประชาชาติจะต้องเพิ่มความเข้มข้นของการดำเนินการเพื่อบรรลุวาระ ๒๐๓๐ อีกทั้งยังเป็นปีแรกของการมีเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่ม ๗๗ ต่อความสำเร็จของสหประชาชาติ
ภายหลังจากพิธีส่งมอบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ โดยเลขาธิการสหประชาชาติได้แสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งถือเป็นรัฐบุรุษของโลก (Statesman of a Global Dimension) ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยย้ำว่า รัฐบาลมีความจริงใจที่จะมุ่งหน้าเดินตาม Roadmap ที่วางไว้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่สั่งสมมานาน นอกจากนี้ ยังได้แจ้งเรื่องการส่งตัวผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าชุดแรกว่า เป็นไปด้วยดี โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัยฯ โดยการเสริมสร้างทักษะอาชีพและให้การศึกษาตามแนวทาง SEP for SDGs Partnership เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางกลับไปตั้งถิ่นฐานในเมียนมา?
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--