ตามที่ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้
๑. สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติที่สร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ประชาชนชาวไทยเคารพเทิดทูนและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ถึงปัจจุบัน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์คงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นศูนย์รวมที่หล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติ การที่ไทยหรือชาติใด ๆ จะตรากฎหมายที่เหมาะสมเพื่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันฯ ที่มีคุณูปการยิ่งต่อชาติบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องปกติสามัญที่ชนในชาติพึงเคารพยึดปฏิบัติ
๒. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการกระทำฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด นอกจากนั้น ไทยยังมีความเป็นสากลในการให้ความคุ้มครองลักษณะคล้ายคลึงกันต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทของชาติอื่น รวมถึงผู้แทนของรัฐต่างประเทศประจำประเทศไทย ดังปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๓ และมาตรา ๑๓๔ ทั้งนี้ การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มิได้มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด
๓. ประเทศไทยเคารพและให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่กระทบความสงบเรียบร้อยและสันติสุขในสังคม และต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่นตามที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๙ (๓) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนั้น การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จึงไม่ได้ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด
๔. การดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย (due legal process) เหมือนกับคดีอาญาโดยทั่วไป ผู้ที่ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีสิทธิเฉกเช่นเดียวกับความผิดอื่น ๆ รวมถึง สิทธิในการอุทธรณ์และขอพระราชทานอภัยโทษ
๕. สำหรับกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นั้น คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลซึ่งเป็นกระบวนการอิสระที่รัฐบาลไม่อาจแทรกแซงได้ ทั้งนี้ นายจตุภัทร์ฯ เคยได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ แต่ต่อมาถูกถอนประกันเนื่องจากนายจตุภัทร์ฯ ได้กระทำผิดซ้ำ ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัว
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--