เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระหว่างประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศภูฏาน ครั้งที่ ๑๓ ณ กรุงทิมพู ประเทศภูฏาน โดยมีเลียนโป ดามโช ดอร์จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน และนายเหาเลียง ซู ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เป็นประธานร่วม และเลียนเชน เชอริ่ง ต็อบเกย์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศคู่ร่วมมือต่าง ๆ เช่น ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย สิงค์โปร์ คูเวต เนเธอร์แลนด์ เนปาล บังกลาเทศ และผู้แทนจากหน่วยงานของสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ จำนวนมากกว่า ๒๐ หน่วยงาน
การประชุมฯ เป็นเวทีให้ประเทศภูฏานชี้แจงยุทธศาสตร์และการดำเนินงานในช่วงกึ่งกลางของแผนพัฒนาประเทศ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๑) และเสนอกรอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๖) รวมทั้งหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความช่วยเหลือกับประเทศผู้ให้และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อ “Gross National Happiness for the Global Goal”
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อเสนอแนะและกล่าวแถลงการณ์เพื่อส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับประเทศภูฏาน สรุปได้ดังนี้
๑. ความสำเร็จของโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ของไทย ได้ริเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ อาทิ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านการเกษตร โดยให้ทุนศึกษาและอบรมข้าราชการของภูฏานแล้ว ๑,๓๐๐ คน
๒. การริเริ่มและดำเนินโครงการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ One Gewog One Product โดยใช้ต้นแบบโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย
๓. การยืนยันความพร้อมของไทยในการดำเนินการตามแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระยะสามปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๒) โดยจะให้ทุนศึกษาและอบรมข้าราชการภูฏานอีก ๓๐๐ คน โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย และโครงการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางใน ๕ สาขา
๔. การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแบบหุ้นส่วน ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ บนพื้นฐานของ SEP for SDGs Partnership
๕. การเสนอโครงการเพื่อการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความท้าทายของประเทศภูฏาน ในการหลุดพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนา อาทิ การบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านการพยาบาล และโครงการอาสาสมัครอาวุโสในสาขาต่าง ๆ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน โดยทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการตามผลลัพธ์การประชุมฯ และเห็นพ้องร่วมกันในประเด็น (๑) การเร่งรัดการบรรลุความตกลงความร่วมมือด้านแรงงาน (๒) การพิจารณาความเป็นไปได้ในการริเริ่มดำเนินโครงการอาสาสมัครอาวุโส (แพทย์หลังเกษียณ) (๓) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างสภากาชาดของทั้งสองฝ่าย (๔) การริเริ่มความร่วมมือด้านการกีฬา และ (๕) การให้ความช่วยเหลือเรื่องเตาเผาขยะในกรุงทิมพู นครหลวงของภูฏาน
การประชุมฯ ครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการแสดงบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นกลไกด้าน South – South Cooperation ที่สำคัญ โดยประเทศเจ้าภาพและผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศอื่น ๆ ได้ชื่นชมข้อเสนอแนะและแถลงการณ์เป็นรูปธรรมของไทย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--