เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานในการประชุม Thailand – Pacific Island Countries Forum (หรือ TPIF) ครั้งที่ ๔ ภายใต้หัวข้อ Thailand-Pacific Island Countries: Putting Ideas to Action Towards Sustainable Development ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ๘ ประเทศเข้าร่วม อาทิ ประธานาธิบดีนาอูรู นายกรัฐมนตรีตองกา รองนายกรัฐมนตรีวานูอาตู และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงาน การผลิต และอุตสาหกรรมฟิจิ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้หัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่เข้าร่วมการประชุมฯ ลงนามแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ห้องรับรองโรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ก่อนเริ่มการประชุม
TPIF เป็นกรอบการประชุมที่ไทยริเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยจัดต่อจากการประชุมประจำปี UNESCAP ที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีการหารือระดับสูงระหว่างไทยกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ๑๔ ประเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านพัฒนาและอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก สรุปผลสำคัญของการประชุม ดังนี้
๑. การหารือเกี่ยวกับ (๑) ความคืบหน้าและอนาคตของแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกระยะ ๓ ปี (๒๕๕๘ – ๒๕๖๐) โดยในระยะ ๓ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ทุนด้านความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกแล้วจำนวน ๑๒๖ ทุน ในสาขาต่าง ๆ อาทิ การเกษตร ประมง การท่องเที่ยว การพัฒนาชุมชน พลังงาน และสาธารณสุข นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้ความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ อาทิ โครงการความร่วมมือไทย - ฟิจิ และไทย - ตองกา เพื่อการพัฒนาแปลงเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (๒) การแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง และ (๓) โอกาสและศักยภาพความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเฉพาะความร่วมมือด้านประมง การค้าและการลงทุนของไทยในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
๒. ผู้แทนจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกขอบคุณที่ไทยริเริ่มจัดเวทีหารือ TPIF ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก และขอบคุณที่ไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นพันธมิตรที่สำคัญของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในกรอบสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้แสดงความหวังที่จะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกันต่อไป อาทิ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของไทยในด้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้านการพัฒนาโรงพยาบาล ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมงและการประมงอย่างยั่งยืน เป็นต้น
๓ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีนาอูรู และรองนายกรัฐมนตรีวานูอาตู เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านประมงการท่องเที่ยว และการค้าการลงทุน
๔. นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผู้แทนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกได้ศึกษาดูงานที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ บริษัทสวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ครบวงจรด้านการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่ทดสอบและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตน้ำกร่อยและน้ำจืด โดยคณะได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้จริงในสาขาเกษตร ทั้งนี้ การศึกษาดูงานทั้งสองแห่งดังกล่าวได้รับความสนใจจากคณะผู้แทนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสอดคล้องกับความต้องการด้านพลังงานของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกและเป็นโอกาสส่งเสริมการลงทุนของบริษัทเอกชนไทย อีกทั้งสามารถนำประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำของไทยไปพัฒนาการเกษตรของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--