เมื่อวันที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๖๐ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐– ๑๒.๓๐ น. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานเซี่ยงไฮ้ ได้จัดงานสัมมนา Seminar on Investment Opportunity in Thailand ณ โรงแรม InterContinental มหานครฉงชิ่ง เพื่อให้ความรู้ด้านการลงทุนในประเทศไทยแก่ภาครัฐและเอกชนจีน ในมหานครฉงชิ่ง โดยมีสภาหอการค้าและการพาณิชย์ต่างประเทศมณฑลเสฉวน (Sichuan Foreign Commerce and Trade Chamber) เป็นผู้ประสานงาน สภาหอการค้ามหานครฉงชิ่ง (Chongqing Chamber of Commerce) และสำนักงานการต่างประเทศและกิจกรรมชาวจีนโพ้นทะเล มหานครฉงชิ่ง (FAO Chongqing) เป็นผู้สนับสนุน มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนสนใจเข้ารวมฟังประมาณถึงประมาณ ๘๐ คน
โดยในงานดังกล่าว รองผู้อำนวยการ เสี่ยว ชาง (Xiao Chang) ฝ่ายกงสุล FAO Chongqing เป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวต้อนรับโดยนายหวัง จิ้น (Wang Jin) รองประธานสภาหอการค้า มหานครฉงชิ่ง กล่าวเปิดงานโดย นางพันทิพา เอี่ยมสุธา เอกะโรหิต กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ในหัวข้อ Investment Opportunities in Thailand for Chongqing Investors การบรรยายของนางอารีย์ งามศิริพัฒนกุล ผู้อำนวยการบีโอไอ/เซี่ยงไฮ้ ในหัวข้อ Thailand: An Asia Hub, A World of Opportunity เกี่ยวกับแน้วโน้มการลงทุนของจีนในไทย เกี่ยวกับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการให้บริการของบีโอไอ การบรรยายโดยนางสาวเยาวลักษณ์ ผาวิจิตร Chief Risk Officer ธนาคารกรุงเทพฯ ในหัวข้อ Briefing on Macro-economy in Thailand and Financial Issues related to Foreign Investment การบรรยายโดยนายหลี่ เหวินหง (Mr. Li Wenhong) ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท Chongqing Lifan Industry (Group) Import&Export Co.,Ltd. ในข้อ Successful Story of Chinese Investment in Thailand และการบรรยายโดยนายหลี่ เหม่าเหวิน (Mr. Li Maowen) ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย บริษัท Grandall Law Firm จำกัด
กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู กล่าวเปิดงาน ในหัวข้อ Investment Opportunities in Thailand for Chongqing Investors สาระสำคัญ ดังนี้ (๑) ได้แสดงความยินดีกับรัฐบาลมหานครฉงชิ่งสำหรับการครบรอบ ๒๐ ปี ของการจัดตั้งฉงชิ่งเป็นมหานคร (Municipality) ซึ่งการสถาปนาเป็นมหานครกอปรกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่แข็งขันในช่วง ๒๐ ปี ที่ผ่านมา ได้ทำให้มหานครฉงชิ่งกลายเป็นมหานครที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การผลิต การค้า การลงทุน ระบบการคมนาคมขนส่ง (โลจิสติกส์) เทคโนโลยี การท่องเที่ยว และการศึกษา นอกจากนั้น (๒) ได้แสดงความยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฉงชิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นในหลายด้านโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การค้า และการศึกษา แต่เห็นว่าการลงทุนยังน้อยอยู่ (๓) ได้ยกเหตุผลว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงเป็นแหล่งลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนจากมหานครฉงชิ่ง อาทิ ไทยและจีนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนานและในทุกมิติ ไทยและมหานครฉงชิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกระดับ มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กันและระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกในทุกด้าน ไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและเปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศ มีชนชั้นกลางที่มีฐานะ มีระบบตลาดและการผลิตที่บูรณาการได้ดี กับตลาดของประเทศในเอเชียอื่น ๆ นอกจากนั้น (๔) ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการใหม่ ๆ ที่สำคัญของรัฐบาล เช่น SEZs EEC กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นโยบาย Thailand 4.0 และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้าน logistics ของไทย แต่ยังจะสามารถเสริม (complement) แผน ASEAN Master Plan on Connectivity และยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนได้อีกด้วย
สุดท้ายกงสุลใหญ่ฯ ได้ย้ำว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนจากมหานครฉงชิ่งไม่ควรมองข้ามและได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักลงทุนฉงชิ่งเข้าร่วม “โครงการนำนักธุรกิจ/นักลงทุนมณฑลเสฉวน และ มหานครฉงชิ่งเยือนไทย ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๐” ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นักลงทุนจากเสฉวนและฉงชิ่งได้มีโอกาสไปศึกษาและหาลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย” ซึ่งคณะฯ จะมีโอกาสได้เข้าพบหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนในประเทศไทย และได้เข้าร่วมงาน Business Matching/Networking/Reception ระหว่างนักลงทุนไทยและนักลงทุนจีน รวมทั้งยังจะได้เดินทางไปสำรวจและศึกษานิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพสำหรับการลงทุนของนักลงทุนจีนอีกด้วย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--