เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ได้นำพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย เข้ายื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ ๑๑๑ ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑) แก่นาย Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เป็นความมุ่งมั่นของไทยที่จะยกระดับมาตรฐานแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ อันเป็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยอนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๗ ที่ไทยให้สัตยาบัน และจะมีผลบังคับใช้ในอีก ๑๒ เดือนถัดไปนับจากวันที่ให้สัตยาบัน คือ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑
อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๑๑ เป็นหนึ่งในอนุสัญญามาตรฐานแรงงานหลัก (fundamental conventions) จำนวน ๘ ฉบับของ ILO ซึ่งปัจจุบันไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้วทั้งหมด ๖ ฉบับ โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๑๑ จัดอยู่ในหมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ มีผลผูกพันให้ประเทศสมาชิกที่เป็นภาคีต้องกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคของโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและอาชีพ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติใด ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับองค์การผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยอมรับและการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้ การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๑๑ สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) ทั้งนี้ ประเด็นการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพสะท้อนอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ ๕ เรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ ข้อที่ ๘ เรื่อง การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และข้อที่ ๑๐ เรื่อง ลดความเหลื่อมล้ำ และยังเป็นส่วนหนึ่งของหลักการงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับนี้แล้ว ๑๗๕ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ไทยให้ความสำคัญกับการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกมิติมาโดยตลอด โดยมีรัฐธรรมนูณแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นแนวนโยบายแห่งชาติ และกฎหมายหลายฉบับที่บัญญัติมาเพื่อป้องกันและคุ้มครองไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ เช่น พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งนี้ ไทยยังมีกฎหมายที่ก้าวหน้าที่ให้การป้องกันและคุ้มครองแก่ลักษณะพิเศษเพิ่มเติมกว่าที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๑๑ กำหนดอีกด้วย เช่น อายุ คนพิการ และแรงงานนอกระบบ เป็นต้น
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--