กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและองค์การห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons – OPCW) จัดการประชุมระหว่างประเทศ หัวข้อ “Regional Dialogue on Promoting Global Peace and Prosperity through Chemical Safety and Security: Celebrating 20 Years of the CWC and the OPCW” ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความมั่นคงและความปลอดภัยทางเคมี และนัยต่อภาคอุตสาหกรรมและการค้าการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อฉลองโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของการมีผลบังคับใช้อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention – CWC) และการสถาปนาองค์การห้ามอาวุธเคมี ในปี ๒๕๖๐ โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมวิชาชีพ และภาควิชาการ จากไทยและภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์
นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานพิธีเปิด โดยกล่าวย้ำถึงความสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายที่อาจเข้าถึงและนำอาวุธเคมีซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงประเภทหนึ่ง รวมทั้งอาจนำวิทยาการทางเคมีไปประยุกต์ใช้ในทางมิชอบ ซึ่งมาตรการด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางเคมีเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง รวมทั้งการค้า การคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ในทางสันติและการพัฒนาประเทศ
ผู้แทนจากองค์การห้ามอาวุธเคมี และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และออสเตรเลีย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางเคมี กระบวนการของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยเสริมสร้างนโยบายความมั่นคง และสร้างภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจในฐานะรัฐภาคีที่มีส่วนรับผิดชอบต่อประชาคมโลก อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อคุณภาพแรงงาน สิ่งแวดล้อม และช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนอีกด้วย รวมถึงได้ไปศึกษาดูงานที่โรงงานอุตสาหกรรมเคมีของบริษัท Thai MMA Co., Ltd. ในเครือของ SCG Chemicals Co., Ltd. ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการนำแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางเคมีไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทย
อนึ่ง ไทยเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๖ และได้ปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด โดยไทยไม่มีอาวุธเคมีและเห็นประโยชน์จากการใช้วิทยาการทางเคมีในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม จึงให้ความร่วมมือกับองค์การห้ามอาวุธเคมีซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ในการตรวจสอบสถานประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีที่เกี่ยวข้อง และได้รับประโยชน์จากโครงการความร่วมมือขององค์การห้ามอาวุธเคมีในด้านการพัฒนาบุคลากร
ปัจจุบัน อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีมีรัฐภาคี 192 ประเทศ และองค์การห้ามอาวุธเคมีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ๒๕๕๖ เนื่องจากผลงานในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--