เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ (10th Mekong-Japan Foreign Ministers' Meeting) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีนาย Taro Kono รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ได้แก่ นาย Prak Sokhonn รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา นาย Saleumxay Kommasith รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว นาย U Kyaw Tin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และนาย Pham Binh Minh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม
รัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่นร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและรับรองถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ ซึ่งติดตามความคืบหน้าของกรอบความร่วมมือตาม New Tokyo Strategy 2015 แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค และขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาต่อประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและการดำเนินงานตามข้อริเริ่มความเชื่อมโยงญี่ปุ่นกับลุ่มน้ำโขง ซึ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านทั้ง hard connectivity และ soft connectivity ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการอบรมในด้านระบบศุลกากรในเดือนกันยายนที่ประเทศเวียดนามเพื่อส่งเสริม soft connectivity ในภูมิภาคต่อไป ที่ประชุมตระหนักถึงความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและบทบาทของไทยในการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาเชิงคุณภาพ (Quality Development) การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) และความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาค ซึ่งกิจกรรมในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น อาทิ Green Mekong Forum ครั้งที่ ๕ ที่กรุงเทพฯ จะเป็นเวทีเพื่อหารือและส่งเสริมประเด็นเหล่านี้ได้
ในการนี้ ไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในภูมิภาค และแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ Third Country Training Program อย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการเป็นประธาน Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) ของประเทศไทยและ ACMECS Master Plan เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ (Software Connectivity) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมด้วยดี
อนึ่ง กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นริเริ่มขึ้นในปี ๒๕๕๑ ประกอบด้วยสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยวัตถุประสงค์คือเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประเทศลุมน้ำโขง ลดช่องว่างในการพัฒนาในอาเซียนและสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างราบรื่น
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--