การดำเนินงานการบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการดำเนินงานภาคต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Monday September 4, 2017 13:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้จัดการแถลงข่าวผลการดำเนินงานการบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยนายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกลุ่มภารกิจพหุภาคี เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมแถลงข่าวในยุทธศาสตร์ที่ ๔ การดำเนินงานภาคต่างประเทศ ดังนี้

๑. การดำเนินการในกรอบพหุภาคี

๑.๑ กรอบสหประชาชาติ

๑.๑.๑ ในฐานะที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ ประจำปี ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ไทยได้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม ๗๗ กับประเทศกลุ่มอื่น ๆ ในการวางรากฐานก้าวแรกที่แข็งแรงสำหรับการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ไปด้วยกัน โดยเฉพาะการริเริ่มนโยบาย Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals Partnership (SEP for SDGs Partnership) เพื่อเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยประเทศสมาชิกกลุ่ม ๗๗ ยอมรับในความเป็นสากลของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและได้ระบุในปฏิญญาระดับรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๙ ว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

๑.๑.๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมนำเสนอรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ในการประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ซึ่งแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ไทยบรรลุ MDGs ในหลายประเด็น และไทยจะใช้เป็นแนวทางในการบรรลุ SDGs ต่อไป ตลอดจนจะแบ่งปันแนวทาง SEP for SDGs แก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันด้วย

๑.๑.๓ การส่งเสริมความร่วมมือใต้ – ใต้ ไทยเป็นประเทศแรกที่ร่วมกับ United Nations Office for South – South Cooperation (UNOSSC) จัดทำหนังสือ South-South in Action – Sustainability in Thailand: Experience for Developing Countries ซึ่งต่อมา UNOSSC ได้มาเปิดสำนักงานที่ประเทศไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ใต้ – ใต้ ในภูมิภาค

๑.๑.๔ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ มีการลงนามความตกลงกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework) ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑ ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

๑.๒ กรอบพหุภาคีอื่น ๆ

ไทยส่งเสริม SEP for SDGs ผ่านเวทีต่าง ๆ อาทิ (๑) Asia-Europe Meeting (ASEM) (๒) the Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) (๓) ไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนกับสหประชาชาติในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐

๒. กรอบทวิภาคีและไตรภาคี

ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีโครงการความร่วมมือทั้งแบบทวิภาคีและไตรภาคีที่เสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการทั้งสิ้น ๑๑ โครงการ ใน ๘ ประเทศ ได้แก่ เลโซโท ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ กัมพูชา สปป. ลาว ตองกา ฟิจิ และชิลี อาทิ โครงการ Sufficiency Economy and Business Promotion in the Agriculture Sector ซึ่งเป็นความร่วมมือไตรภาคี ไทย – เยอรมนี – ติมอร์ฯ และยังมีประเทศอื่น ๆ ที่แสดงความสนใจอย่างจริงจังในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย SEP for SDGs Partnership ได้แก่ ฟิจิ ศรีลังกา โมซัมบิก โตโก เซเนกัล มาดากัสการ์ เบนิน ไนเจอร์ บูร์กินาฟาโซ คีร์กิซ ทาจิกิสถาน ปารากวัย คอสตาริกา วานูอาตู ฟิลิปปินส์ ภูฏาน

๓. การเผยแพร่แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้สาธารณชนต่างประเทศรับทราบ

กระทรวงการต่างประเทศไทยได้เผยแพร่ SEP ให้แก่สาธารณชนต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ (๑) การจัดนิทรรศการเผยแพร่ SEP ในลักษณะนิทรรศการเคลื่อนที่ในต่างประเทศ (๒) การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างประเทศชั้นนำ และ (๓) การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่รู้จักในระดับประชาชน

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ