การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียคู่ขนานการประชุม UNGA72

ข่าวต่างประเทศ Friday September 22, 2017 13:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัถต์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือเอเชียคู่ขนานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๒ (Asia Cooperation Dialogue Foreign Ministers’ Meeting at the Sideline of the UNGA72) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเป็นประธาน และรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิก ๓๔ ประเทศเข้าร่วมการประชุม

ที่ประชุมร่วมส่งมอบตำแหน่งประธานกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (วาระการดำรงตำแหน่งประธานตั้งแต่ กันยายน ๒๕๖๐ – กันยายน ๒๕๖๑) นอกจากนี้ เลขาธิการ ACD ร่วมกับประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Prime Mover) ของ 6 เสาหลักความร่วมมือ ACD กล่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินการความร่วมมือในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยง (๒) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (๓) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๔) ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงด้านทรัพยากรอาหาร พลังงาน และน้ำ (๕) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ (๖) การส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน ที่ประชุมหารือกำหนดการจัดการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๖ และการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ ๓ โดยอิหร่านจะเป็นเจ้าภาพจัดในปี ๒๕๖๑

ไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักของเสาหลักการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืนได้กล่าวรายงานการจัดการประชุมคณะทำงานของเสาหลักในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ และการจัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในหัวข้อ Microcredit and Sufficiency Economy ระหว่างวันที่ ๒๐ สิงหาคม – ๒ กันยายน ๒๕๖๐ พร้อมแจ้งการเป็นเจ้าภาพจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการประยุกต์ใช้จริงในระดับชุมชน นอกจากนี้ ไทยได้กล่าวถ้อยแถลงย้ำความมุ่งมั่นของไทยต่อกรอบความร่วมมือ ACD ตามที่ได้ประกาศไว้ในที่ประชุม ACD Summit ครั้งที่ ๒ ที่กรุงเทพฯ โดยแสดงความจำนงของประเทศไทยในการเป็นประเทศผู้ร่วมขับเคลื่อน (Co-Prime Mover) ด้านพลังงานและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคู่ขนานการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานเอเชียครั้งที่ ๗ (AMER7) ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ เพื่อสนับสนุนพลวัตรของความร่วมมือในเสาหลักนี้ต่อไป

กรอบความร่วมมือเอเชีย จัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของไทยเมื่อ ปี ๒๕๔๕ เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชียเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นเอเชีย และความร่วมมือที่ครอบคลุมโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 34 ประเทศจากทุกอนุภูมิภาคของเอเชีย โดยไทยเคยทำหน้าที่ประธาน ACD ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๕๘ - กันยายน ๒๕๕๙ และเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ณ กรุงเทพมหานคร

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ