เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๐ (ช่วงเช้า) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรมคู่ขนานระดับสูงช่วง UNGA72 เรื่อง SDG Implementation, Financing and Monitoring: Sharing Innovations through South-South and Triangular Cooperation จัดโดยคณะผู้แทนถาวรบังกลาเทศ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมกับ UNDP และ UN Office for South-South Cooperation (UNOSSC) ที่ห้องประชุม ๓ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เพื่อเปิดตัวหนังสือ South – South in Action: Citizen-friendly Public Service Innovation in Bangladesh และ SDG Tracker ซึ่งเป็นระบบ portal เผยแพร่ข้อมูลและสถิติเพื่อติดตามความคืบหน้าการบรรลุ SDGs อันเป็นความร่วมมือระหว่างบังกลาเทศกับ UNDP และ USAID โดยในพิธีเปิดมีนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ประธานาธิบดีเอสโตเนีย รองประธานาธิบดีคอสตาริกา นายกรัฐมนตรีกือราเซา และรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนปาล ร่วมกล่าวถ้อยแถลง
นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ “Vision 2021” ในการพัฒนาบังกลาเทศให้เป็น Digital Bangladesh ด้วยการส่งเสริมการใช้ ICT และอินเตอร์เน็ตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ อาทิ การจดทะเบียนเกิด ทะเบียนที่ดิน รัฐบาลบังกลาเทศได้จัดตั้ง “a2i” (Access to Information) ขึ้นภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขยายจุดบริการเบ็ดเสร็จที่หน่วยงานท้องถิ่นและที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ เพื่อร่นเวลา ประหยัดเงินและลดการเดินทางของประชาชน บังกลาเทศได้แบ่งปันนวัตกรรมดังกล่าวกับต่างประเทศ ในกรอบใต้-ใต้ อาทิ ภูฏาน มัลดีฟส์ ฟิจิ และยินดีที่ได้ร่วมมือกับ UNOSSC ในการจัดทำหนังสือ South – South in Action เพื่อแบ่งปันนวัตกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ บังกลาเทศสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนให้บังกลาเทศสามารถบรรลุ SDGs ทั้งในรูปแบบการลงทุนขนาดใหญ่ FDI และ PPP ตลอดจนการลงทุนที่เอื้อให้เกิดประโยชน์ทางสังคม โดยบังกลาเทศกำลังร่วมมือกับ UNDP จัดตั้งกองทุน Build Bangladesh – UNDP Impact Fund เพื่อสร้างบ้านเอื้ออาทรเป็นโครงการนำร่องด้วยการสนับสนุนจากนักลงทุนจีน
ผู้แทนระดับสูงจากเอสโตเนีย คอสตาริกา กือราเซา และเนปาล ร่วมสนับสนุนแนวคิดของบังกลาเทศที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐและการจัดทำ SDGs Tracker และส่งเสริมความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบใต้ – ใต้และไตรภาคี เพื่อการบรรลุ SDGsโดย ประธานาธิบดีเอสโตเนีย เห็นควรเพิ่มความสำคัญของสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา ตลอดจนเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่น รองประธานาธิบดีคอสตาริกา เห็นว่า ODA ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการระดมทุน และควรมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน นายกรัฐมนตรีกือราเซา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบรรลุเป้าหมาย ๑๗ รวมทั้งเยาวชน รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนปาล เห็นควรให้มีการจัดทำ matrix ที่ครอบคลุมเพื่อติดตามความคืบหน้าของแต่ละเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงการเสวนาระดับสูงอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อภิปรายร่วมกับ รัฐมนตรีจากจากเบนิน และยูกันดา Under-Secretary General และ UN High Representative for LDC, LLDCs and SIDS ผู้ว่าราชการจังหวัดจากอินโดนีเซีย ผู้อำนวยการหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเกตส์ ตัวแทนภาคเอกชน และ ประธาน Copenhagen Consensus Center ตัวแทนภาคประชาสังคม เพื่อแบ่งปันแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทย ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่าง ๆ ช่วยเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในทุกระดับ ไทยได้นำ SEP ไปเผยแพร่ให้แก่นานาประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือใต้ – ใต้ และไตรภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๙ เพื่อส่งเสริม SEP for SDGs Partnership ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ของการดำเนินโครงการ SEP ในเลโซโท สปป.ลาว กัมพูชา ติมอร์-เลสเต และตองกา ทำให้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่า SEP สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกที่ และทุกสาขา รวมทั้งไทยได้ขยายความร่วมมือไตรภาคีเรื่อง SEP กับหุ้นส่วน เช่น UNOSSC (จัดทำหนังสือ South-South in Action) GIZ (ดำเนินโครงการ SEP ในติมอร์ฯ) KOICA (จัดหลักสูตรอบรมร่วมหัวข้อ SEP ให้แก่ ประเทศอาเซียนและติมอร์ฯ) USAID (เริ่มโครงการแก้มลิงใน สปป.ลาว) UN Volunteers (จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของอาเซียน รวมทั้ง SEP เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงานอาสาสมัครเยาวชนเพื่อบรรลุ SDGs) และแสดงความยินดีและชื่นชมบังกลาเทศที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้กับการให้บริการภาครัฐ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--