เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐ นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวปาฐกถาในช่วงพิธีเปิดการประชุม Sustainable Agro Food Business Forum ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC) กรุงเทพมหานคร โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดตั้งห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืนตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภคและจัดทำแนวทาง (Roadmap) ในการจัดตั้ง Sustainable Agro Food Platform
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แบ่งปันข้อคิดเห็นและประสบการณ์ของไทยในการส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเกษตรและห่วงโซ่มูลค่าอาหาร ภายใต้ภาวะความท้าทายต่าง ๆ ที่หลายประเทศต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น การขยายตัวของจำนวนประชากรโลก การเพิ่มจำนวนของประชากรผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และความเสื่อมถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสิ่งที่ไทยเห็นว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุการเกษตรและห่วงโซ่มูลค่าอาหารที่ยั่งยืน ได้แก่
๑) การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสินค้าและการผลิตทางการเกษตร ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดตั้งโครงการ “Food Innopolis” โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านอาหารของโลก
๒) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึง การรักษาคุณภาพ รวมทั้งการขยายตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์
๓) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในภาคเกษตรกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงอายุ
๔) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้แหล่งทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับการส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำภายในปี ๒๕๗๓
๕) การส่งเสริมแนวทางประชารัฐ ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการฝึกอบรมและจัดกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถ
๖) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการบูรณาการในนโยบายของรัฐ โดยส่งเสริมแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ (responsible business practices) ของผู้ผลิตสินค้าอาหาร นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการขจัดการประมงที่ผิดกฏหมาย (IUU) เพื่อส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนของไทยและสมุทาภิบาลที่มีความรับผิดชอบ (ocean governance) ในระดับสากล
การดำเนินการตามแนวทางข้างต้นจะช่วยทำให้ภาคการเกษตรและห่วงโซ่อาหารมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะข้อที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องการขจัดความอดอยาก ซึ่งปวงชนชาวไทยมีความปลื้มปิติยินดีอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษด้านเกษตรกรรมและอาหารแห่งองค์การสหประชาชาติเพื่อขจัดความหิวโหย
นอกจากนี้ โดยที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดที่สำคัญ ๓ การประชุม (Triple As) ได้แก่ ACMECs ปี ๒๕๖๑ ASEAN ปี ๒๕๖๒ และ APEC ปี ๒๕๖๕ ซึ่งประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหารจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในทุกกรอบการประชุมต่อไป
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--