การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๕ และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๙

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 2, 2017 13:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๕ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

เวียดนาม ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๖๐ ได้กำหนดหัวข้อหลัก (Theme) คือ การสร้างพลวัตใหม่และการส่งเสริมอนาคตร่วมกัน (Creating New Dynamism and Fostering Shared Future) และประเด็นสำคัญ (Priorities) ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑) การส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม สร้างสรรค์ และยั่งยืน (Promoting Sustainable, Innovative and Inclusive Growth) ๒) การส่งเสริมการการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Deepening Regional Economic Integration) ๓) การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมแก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในยุคดิจิทัล (Strengthening MSMEs’ Competitiveness and Innovation in the Digital Age) และ ๔) การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Enhancing Food Security and Sustainable Agriculture in Response to Climate Change)

กำหนดการประชุมที่สำคัญจะประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ แบบเต็มวัน และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ โดยแบ่งเป็น การหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC ในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ งานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำโดยประธานาธิบดีเวียดนามและภริยาในค่ำของวันเดียวกัน จากนั้น จะเป็นหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ซึ่งหัวข้อการหารือของ Retreat I ในช่วงเช้า คือ การเติบโตอย่างมีนวัตกรรม การมีส่วนร่วม และการจ้างงานอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล (Innovative Growth, Inclusion and Sustainable Employment in the Digital Age) และหัวข้อการหารือของ Retreat II ในช่วงบ่าย คือ พลังขับเคลื่อนใหม่ทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงในภูมิภาค (New Driver for Regional Trade, Investment and Connectivity)

เป้าหมายในการเข้าร่วมประชุมของไทยในครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินการของไทยที่สำคัญในกรอบเอเปค โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความเชื่อมโยง (connectivity) เศรษฐกิจสีเขียว (Green growth / Green economy) และการพัฒนาทุนมนุษย์

ประเด็นที่ไทยจะหยิบยก ได้แก่ การส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม สร้างสรรค์ และยั่งยืน โดยไทยได้ดำเนินการในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินนโยบาย “ประเทศไทย ๔.๐” โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกรองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การปฏิรูประบบอาชีวศึกษาทวิภาคี ซึ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน การส่งเสริมให้เกษตรกรน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไปสู่การเกษตรอัจฉริยะ

นอกจากนี้ ไทยเห็นว่า ความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านในทุกมิติ ทั้งด้านกายภาพ การพัฒนากฎระเบียบ ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งไทยได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพภายในประเทศทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย Thailand+1 เพื่อกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้ขยายไปยังเพื่อนบ้านในภูมิภาค รวมทั้งเตรียมพร้อมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ซึ่งไทยได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ และลงทุนสร้างเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบ Asia-Africa-Euroupe-1 เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมไทยสู่โลก ไทยพร้อมร่วมมือกับสมาชิกเอเปคอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างแท้จริงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งสอดรับกับแผนแม่บทความเชื่อมโยงในเอเปค ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๒๕

ไทยได้มีบทบาทนำในการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และบทบาทของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจ โดยไทยได้ร่วมกับเปรูในการยกร่างยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) ซึ่งเป็นแนวทางให้แก่ผู้กำหนดนโยบายเอเปคในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ MSMEs ดำเนินกิจการต่าง ๆ อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการวางกรอบแผนการดำเนินงานในอนาคต พร้อมระบุ ๕ สาขานำร่องในการดำเนินการ ได้แก่ ๑) พลังงานชีวมวลและพลังงานหมุนเวียน ๒) ธุรกิจก่อสร้างและอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ๓) การท่องเที่ยว ๔) อุตสาหกรรมอาหาร และ ๕) สิ่งทอ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญของเอเปคในปีนี้

ไทยตระหนักดีว่า SMEs มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และเอเปคได้มีการจัดทำกรอบความร่วมมือเอเปคว่าด้วยการอำนวยความสะดวกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (APEC Cross Border E-Commerce Facilitation Framework) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น และมีส่วนร่วมในห่วงโซอุปทานโลก (Global Supply Chain) ได้โดยตรง

ประเด็นอื่น ๆ ที่จะมีการหารือในที่ประชุม ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์เอเปคหลัง ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ และอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย ในปี ๒๕๖๕ (ค.ศ. ๒๐๒๒)

นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีของการก่อตั้งอาเซียน เวียดนามจะจัดให้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างสมาชิกเอเปคกับอาเซียน ซึ่งจะสมาชิกอาเซียนที่มิใช่สมาชิกเอเปคมาเข้าร่วมด้วย ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความร่วมมืออันดีระหว่างกัน

อนึ่ง เอเปคมีสมาชิกทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม มีประชากรรวมกันมากกว่า ๒.๘ พันล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันกว่าร้อยละ ๕๙ ของ GDP โลก สัดส่วนการค้าระหว่างกันคิดเป็นร้อยละ ๔๘ ของมูลค่าการค้าโลก และสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปคสูงถึงร้อยละ ๗๐ ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด ทั้งนี้ เอเปคดำเนินงานโดยยึดหลักฉันทามติ ความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพัน

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ