เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายฮาซิม อัสสัยยิด บะดะวีย์ อัฏฏอฮิรีย์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่จะพ้นจากหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับอียิปต์ในด้านต่าง ๆ อาทิ การค้าและการลงทุน การพัฒนา การศึกษา รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย
ในประเด็นสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณฝ่ายอียิปต์ที่มีบทบาทในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในเวทีองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation – OIC) ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่มิได้เป็นปัญหาทางด้านศาสนา แต่เป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา และกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงไม่ได้ยึดครองพื้นที่หรือจัดตั้งกองกำลังเหมือนในประเทศอื่น โดยรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์และเข้าถึงทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา แต่จะใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย และขอให้อียิปต์ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้งใน OIC และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ต่อไป
ในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน ๓ ครั้ง ทำให้เข้าใจดีว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้เป็นความขัดแย้งด้านศาสนา เนื่องจากประชาชนในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกลุ่มอัตลักษณ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งความหลากหลายนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ โดยกลุ่มอัตลักษณ์ต่าง ๆ ต้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน และเห็นว่านโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยลดต้นตอของแนวคิดการใช้ความรุนแรงลงได้ ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรับมือกับการเผยแพร่ของกลุ่มหัวรุนแรงได้ นอกจากนี้ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สามารถตีความคำสอนแตกต่างกันได้หลายรูปแบบ ซึ่งในส่วนของอียิปต์มีแนวความคิดสนับสนุนแนวทางอิสลามสายกลางและเชื่อมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรง และพยายามเผยแพร่แนวความคิดดังกล่าวผ่านสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ไปยังกลุ่มนักศึกษามุสลิมของไทยด้วย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--