เมื่อวันที่ ๖ - ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งสุดท้าย (Concluding APEC Senior Officials’ Meeting) ประจำปี ๒๕๖๐ ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ที่ประชุมได้สรุปความคืบหน้าการดำเนินการของเอเปคในปี ๒๕๖๐ เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๙ (๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐) และการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๕ (๑๐ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบรายงานประจำปีของคณะกรรมการที่สำคัญของเอเปค ได้แก่ คณะกรรมการด้านการค้าและการลงทุน คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และคณะกรรมการระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ
เอเปคยังคงบทบาทในการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน โดยได้ดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การจัดทำกรอบความร่วมมือเอเปคว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (APEC Cross-border E-commerce Facilitation Framework) การจัดทำกรอบติดตามการดำเนินงานตามกรอบการทำงานเพื่อความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระยะที่ ๒ (Monitoring Framework for the APEC Supply Chain Connectivity Framework Action Plan Phase II 2017-2020 (SCFAP II)) ที่ประกอบด้วยเป้าหมาย ตัวชี้วัด และแผนการดำเนินงานของ ๕ อุปสรรค ได้แก่ การดำเนินการที่ข้ามพรมแดน โครงสร้างพื้นฐานและการบริการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ ความร่วมมือด้านกฎระเบียบ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ เอเปคได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เช่น โครงการเสริมสร้างความสามารถตามความต้องการ (Action Plan Framework for the REI Capacity Building Needs Initiative (CBNI)) ระยะที่ ๓ ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๓ การส่งเสริมการดำเนินการของสมาชิกตามแผนการดำเนินงานเอเปคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าบริการ (APEC Services Competitiveness Roadmap) เป็นต้น
เอเปคเห็นว่า การพัฒนาทุนมนุษย์มีความสำคัญยิ่งต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และได้เห็นชอบรายงานของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและการพัฒนาทุนมนุษย์ (2017 APEC Economic Policy Report (AEPR) on Structural Reform and Human Capital Development)
ในส่วนของไทย ที่ประชุมได้ชื่นชมไทยและเปรูที่มีบทบาทนำในการยกร่างยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) ซึ่งทุกสมาชิกล้วนเห็นพ้องว่า SMEs มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมให้ SMEs ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในระยะยาว
สำหรับการรายงานนโยบายเศรษฐกิจในปี ๒๕๖๑ ที่ประชุมเห็นชอบที่จะเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้ “การปฏิรูปโครงสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน” เป็นหัวข้อของรายงานนโยบายเศรษฐกิจประจำปี ๒๕๖๑
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--