นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๙

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 9, 2017 13:30 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๙ (9th Mekong-Japan Summit) คู่ขนานการประชุมผู้นำอาเซียน ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยการประชุมจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ความคืบหน้าและแนวทางในอนาคตของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น รวมถึงประเด็นระดับโลกและระดับภูมิภาคต่าง ๆ”

ที่ประชุมจะรับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๙ เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม ซึ่งให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวใหม่ ค.ศ. ๒๐๑๕ และร่วมฉลองโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีการก่อตั้งอาเซียน ยินดีต่อบทบาทของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคผ่านข้อริเริ่มใหม่ ๆ เช่น ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เช่นเดียวกับความคืบหน้าของโครงการที่ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านกายภาพ (Hard Connectivity) และ Soft Connectivity เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ และแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมลุ่มน้ำโขงที่มีความเชื่อมโยง (Connected Mekong Industrial Development) ยินดีต่อการที่ญี่ปุ่นสนับสนุนการเติบโตสีเขียว (Green Growth) โดยเน้นความสำคัญของการบริหารจัดการแหล่งน้ำและการอนุรักษ์แม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านระบบการดูแลสุขภาพ การรักษาเสถียรภาพ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งยืนยันการจัดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ ที่ประเทศญี่ปุ่น

ประเด็นที่ไทยจะผลักดันในการประชุมดังกล่าวคือ (๑) ความเชื่อมโยง ซึ่งส่งเสริมการคมนาคมและการบูรณาการลุ่มน้ำโขงเข้ากับอาเซียนและตลาดโลก (๒) มาตรการเกี่ยวกับ Soft Connectivity ของไทยที่ช่วยส่งเสริมข้อริเริ่ม Soft Connectivity ของญี่ปุ่น และ (๓) การพัฒนาที่ยั่งยืนอนึ่ง กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเป็นเวทีที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาค เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ต่ออนุภูมิภาคในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางสังคม รวมถึงส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยไทยเน้นการแสดงบทบาทนำในฐานะผู้ให้ร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ