สืบเนื่องจากการที่เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นางยังฮี ลี (Yanghee Lee) ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ได้มีแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางเยือนบังกลาเทศและไทย กระทรวงการต่างประเทศขอเรียน ดังนี้
๑. รัฐบาลไทยเชื่อในการหารืออย่างสร้างสรรค์ การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ และการปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงได้อำนวยความสะดวกการพบหารือระหว่างผู้เสนอรายงานพิเศษฯ กับผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐระหว่างที่เดินทางเยือนประเทศไทย
๒. การที่ในแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นภารกิจฯ ผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ระบุว่าผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่สะท้อนความเป็นจริงและไม่เป็นธรรม
๓. กว่า ๓ ทศวรรษมาแล้วนี้ ประเทศไทยได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาจำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งจำนวนมากเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาทุกคน มีที่พักพิง มีอาหาร และสามารถเข้าถึงการศึกษา บริการสาธารณสุข การจดทะเบียนเกิด และการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ชื่นชมของหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังรองรับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานมากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน และในช่วง ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ช่วยให้แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองและสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งก็ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
๔. สำหรับกระบวนการเดินทางกลับมาตุภูมิของผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ประเทศไทยยึดมั่นในหลักการเดินทางกลับโดยสมัครใจ อย่างปลอดภัย และมีศักดิ์ศรีมาโดยตลอด พัฒนาการทางการเมืองและกระบวนการสันติภาพในเมียนมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้การเดินทางกลับโดยสมัครใจของผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมากลุ่มแรกจำนวน ๗๑ คน เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ ประสบความสำเร็จ และยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเตรียมการเดินทางกลับโดยสมัครใจของกลุ่มอื่น ๆ ในอนาคตด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะ UNHCR และ IOM มาโดยตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับการเดินทางกลับมาตุภูมิของผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในอนาคต อาทิ การสนับสนุนการฝึกอบรมและการพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ทั้ง ๙ แห่ง ซึ่งรวมถึงโครงการฝึกอบรมครูฝึกด้านเกษตรอินทรีย์และการเกษตรแผนใหม่ รวมถึงการจัดให้ผู้แทนจากพื้นที่พักพิงฯ เดินทางไปทำความคุ้นเคยและเยี่ยมชมโครงการเพื่อการพัฒนาทั้งในฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังดำเนินความร่วมมือในลักษณะการให้ความช่วยเหลือแบบไตรภาคี การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาให้เกิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืนด้วย
๕. กระทรวงการต่างประเทศจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายงานของผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ที่จะนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยนชนแห่งสหประชาชาติ จะสะท้อนความพยายามของรัฐบาลไทยและไมตรีจิตของคนไทยที่มีให้กับผู้พลัดถิ่นอย่างเที่ยงตรง
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--