เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ได้ตัดสินจำคุกจำเลยในคดีค้ามนุษย์จำนวน ๒ ราย คนละ ๑๑ ปี จำเลยทั้งสองรายดังกล่าวได้ล่อลวงโจทก์ซึ่งเป็นลูกเรือประมงไทย ๒ ราย ไปทำงานบนเรือประมง “เกตุสุวรรณรัตน์ ๑๑” โดยโจทก์ถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว และถูกทำร้ายร่างกาย สำหรับไต้ก๋งเรือซึ่งเป็นจำเลยรายที่ ๓ ของคดีนี้นั้น พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องด้วยในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงาน โดยศาลมีกำหนดพิจารณาตัดสินคดีในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ก่อนหน้านี้ ในปี ๒๕๖๐ ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกคดีค้ามนุษย์รายสำคัญ ได้แก่ “คดีกันตัง” ซึ่งศาลได้พิพากษาจำเลย ซึ่งเป็นนายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง และนักธุรกิจรายใหญ่เจ้าของกิจการแพปลาพร้อมพวกรวม ๖ ราย จำคุกคนละ ๑๔ ปี ในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำร้ายร่างกายลูกเรือ ๑๑ รายบนเรือประมง และสั่งปรับบริษัทเจ้าของเรือประมงจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท และ “คดีลังลอง” ซึ่งศาลลงโทษจำคุกจำเลยในข้อหาทำร้ายร่างกายลูกเรือชาวประมงชาวกัมพูชาเป็นเวลา ๔ ปี และศาลแรงงานได้พิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้นายลังลองเป็นจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท
ในช่วงปี ๒๕๕๘ ถึง ๒๕๖๐ ทางการไทยได้จับกุมดำเนินคดีค้ามนุษย์ภาคประมงรวม ๘๖ คดี คดีถึงที่สุดแล้ว ๓๒ คดี โดยศาลมีกำหนดจะพิจารณาอีก ๓ คดีภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ปัจจุบันหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และศาล ต่างมีแผนกพิเศษเพื่อพิจารณาคดีค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะ โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จัดตั้งแผนกพิเศษดังกล่าว ซึ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยดำเนินงานคดีค้ามนุษย์เร็วขึ้นทั้งระบบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในภาคประมงอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว และยุติธรรม รวมทั้งได้ให้การดูแลคุ้มครองผู้เสียหายและเหยื่อจากการค้ามนุษย์ตามหลักสากล
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--