กระทรวงแรงงานร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) จัดโครงการอบรมพนักงานตรวจแรงงาน ๓ รุ่น โดยรุ่นที่ ๑ ได้ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่จังหวัดชลบุรี ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยพนักงานตรวจแรงงานจากส่วนกลางและ ๒๒ จังหวัดชายทะเล รวม ๓๐ คน รุ่นที่ ๒ มีกำหนดจัดในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ และรุ่นที่ ๓ จัดในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑
เมื่อปี ๒๕๖๐ กระทรวงแรงงานร่วมมือกับ ILO จัดฝึกอบรมการตรวจแรงงานประมงทะเลให้กับพนักงานตรวจแรงงานใน ๒๒ จังหวัดชายทะเลและกรุงเทพมหานคร จำนวนรวม ๙๐ คน โดยการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” (Ship to Shore Rights Project) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน ILO และสหภาพยุโรป เพื่อลดรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล โดยพนักงานตรวจแรงงานทั้ง ๙๐ คนนี้ จะได้รับการอบรมต่อยอดการพัฒนาศักยภาพอีกครั้งในปี ๒๕๖๑ เพื่อให้มีความรู้เฉพาะด้านในการให้คำปรึกษาเพื่อนร่วมงานให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมประมงทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันและตรวจจับการละเมิดสิทธิแรงงาน และการเพิ่มจำนวนของผู้ตรวจแรงงานให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนแรงงานตามมาตรฐานของ ILO โดยในปี ๒๕๖๐ ไทยมีจำนวนผู้ตรวจแรงงานทั้งสิ้น ๑,๕๐๖ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๑ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๙ ซึ่งมีจำนวน ๑,๒๔๕ คน และจะบรรจุเพิ่มในปี ๒๕๖๑ อีกจำนวน ๑๘๖ อัตรา
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวในภาคประมงจำนวน ๕๓,๕๐๘ คน ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) ๒๒ แห่งในพื้นที่ชายฝั่ง ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ – ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ พบว่า แรงงานจำนวน ๓,๔๙๖ ราย ถูกละเมิดโดยนายจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งทุกกรณีได้รับการลงโทษตามมาตรการทางปกครองแล้ว ในส่วนของการตรวจแรงงานในสถานประกอบการแปรรูปพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานในสถานประกอบการแปรรูป ๑๔๒ แห่ง จาก ๓๕๘ แห่ง และได้ใช้มาตรการทางปกครองปิดสถานประกอบการแล้ว ๙ แห่ง
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ