เมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ไทยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายแบบบูรณาการ ณ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้แทนจากศาลอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กองทัพเรือ และกรมประมง เข้าร่วม รวม ๑๐๑ คน เพื่อระดมความเห็นและร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินคดีการทำประมงผิดกฎหมายให้มีความรวดเร็วและเป็นมาตรฐานเดียวกันมากยิ่งขึ้น
การประชุมดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมด้านคดีประมงทั้งระบบ โดยให้มีการกำหนดกรอบเวลาและขั้นตอนการทำงานของตำรวจ อัยการ และศาลไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือในชั้นพนักงานสอบสวน เมื่อพบการกระทำผิดที่เป็นการทำประมงผิดกฎหมาย ต้องดำเนินคดีและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการภายใน ๒ เดือน ชั้นอัยการจะพิจารณาสำนวนและส่งฟ้องศาลภายใน ๑ เดือน และศาลโดยองค์คณะพิเศษพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย จะพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน นับตั้งแต่วันรับฟ้อง ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาคดีอาญาและคดีปกครอง การยึดและการจำหน่ายของกลาง ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีประมงต่อไปในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังได้เชิญผู้แทนจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินคดีประมงด้วย ซึ่งเป็นความร่วมมือในการนำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของการบังคับใช้กฎหมายด้านประมงของต่างประเทศมาพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายของไทยให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้นด้วย
ไทยจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรปมาถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการดำเนินคดีประมงให้หน่วยงานของไทยได้รับทราบด้วย และมีนโยบายที่จะจัดการสัมมนาเช่นนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้านคดีประมงเพื่อให้เกิดการป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างเข้มแข็งต่อไป
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ