ระหว่างวันที่ ๓๐ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเยือนเวียดนามเพื่อเข้าร่วมคณะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ (Greater Mekong Subregion (GMS) Summit) ครั้งที่ ๖ ณ กรุงฮานอย โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย
การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Leveraging on 25 Years of Cooperation, and Building a Sustainable, Integrated, and Prosperous GMS” ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปีของการก่อตั้งแผนงาน GMS โดยที่ประชุมจะทบทวนการดำเนินงาน รับทราบผลสำเร็จของแผนงาน GMS รวมถึงหารือแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งผลงานที่ผ่านมาประกอบด้วยการดำเนินงานด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ การผลักดันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการพัฒนาแนวเส้นทางคมนาคมให้เป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจ
ที่ประชุมจะพิจารณาให้ความเห็นชอบและรับรอง (๑) แถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำแผนงาน GMS (๒) แผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Action Plan) ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานของแผนงาน GMS ในระยะ ๕ ปีข้างหน้า และ (๓) แผนงาน/โครงการภายใต้กรอบการลงทุนของภูมิภาคปี พ.ศ. ๒๕๖๕ (Regional Investment Framework – RIF-2022) นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำ GMS กับภาคเอกชน ในเวที GMS Business Summit เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน GMS ต่อไป รวมทั้งมีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ด้วย
อนึ่ง แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นความร่วมมือของประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ ได้แก่ จีนตอนใต้ (ยูนนานและกว่างซี) สปป.ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ทั้งนี้ GMS มีสาขาความร่วมมือทั้งสิ้น ๑๐ สาขา ได้แก่ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การเกษตร และการพัฒนาเมือง โดยจะจัดการประชุมระดับผู้นำขึ้นทุก ๓ ปี
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ