ตามที่เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๑ (ตามเวลาในประเทศไทย) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่เอกสารรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๗ (Country Reports on Human Rights Practices for 2017) นั้น
กระทรวงการต่างประเทศ ขอชี้แจง ดังนี้
๑. รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๗ เป็นรายงานที่ Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาตามกฎหมาย Foreign Assistance Act ค.ศ. ๑๙๖๑ โดยรายงานประจำปีนี้เป็นรายงานฉบับที่ ๔๒ ครอบคลุม ๑๙๕ ประเทศ ใน ๖ ภูมิภาคทั่วโลก ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ โดยไม่มีการจัดลำดับและไม่ระบุข้อเสนอแนะ
๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย เอกสารรายงานฯ ได้กล่าวถึงทั้งความก้าวหน้าและปัญหาท้าทายเช่นเดียวกับรายงานฯ ของประเทศอื่น ๆ โดยปัญหาท้าทายบางเรื่องของไทยเป็นประเด็นที่เคยปรากฏอยู่ในรายงานฉบับก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกัน รายงานฯ ได้ระบุถึงความก้าวหน้าของไทยซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐบาล อาทิ การสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแก้ไขกฎหมายเพิ่มบทลงโทษผู้ใช้แรงงานเด็ก การจัดตั้งศูนย์ดูแลเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศในโรงพยาบาลรัฐ และการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ เป็นต้น
๓. เอกสารรายงานดังกล่าวเป็นมุมมองของสหรัฐอเมริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว และจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูล สถิติ ข้อห่วงกังวลและกรณีศึกษาที่ไม่เปิดเผยและไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ในพิธีเปิดตัวรายงานดังกล่าวซึ่งนาย John J. Sullivan รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แถลง ก็มิได้มีการกล่าวพาดพิงประเทศไทยในการนำเสนอรายงาน (แม้จะมีการพูดถึงประเทศต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาจำนวน ๘ ประเทศ และประเทศตัวอย่างที่มีความคืบหน้า ๓ ประเทศ) และในช่วงถาม - ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ก็มิได้มีผู้ใดสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยแต่อย่างใด
๔. รัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นการดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมไทย โดยรัฐบาลได้ประกาศให้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว การส่งเสริมความตระหนักรู้ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากลภายใต้หลักนิติธรรม
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ