ไทยเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการควบคุมกองเรือประมง

ข่าวต่างประเทศ Monday June 11, 2018 13:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับเสนาธิการทหารเรือ อธิบดีกรมเจ้าท่า และอธิบดีกรมประมง เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมกองเรือประมงของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อย่างจริงจังของรัฐบาลไทย

คณะได้ลงพื้นที่ตรวจการณ์ตามท่าเรือและพบเรือประมงผิดกฎหมายที่ถูกตรึงพังงาจำนวน ๓๔ ลำ รองนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าออกประกาศเรียกให้เจ้าของเรือมาแสดงตัวภายใน ๗ วัน หากเจ้าของเรือไม่แสดงตัวภายในกำหนด กรมเจ้าท่าสามารถดำเนินการนำเรือไปขายทอดตลาดโดยอาศัยตามอำนาจพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และให้ดำเนินการเช่นนี้ในทุกจังหวัดชายทะเลทั้ง ๒๒ จังหวัด เพื่อกำจัดเรือที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้หมดสิ้นไป

นอกจากนี้ ในส่วนของเรือประมงอื่น ๆ ที่ถูกแจ้งว่าจมหรือชำรุดจนใช้การไม่ได้แล้วนั้น รัฐบาลได้จัดให้มีชุดปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ติดตามหาเจ้าของเรือ และรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าเรือเหล่านั้นจมหรือชำรุดเสียหายจริง อันเป็นการป้องกันมิให้มีการลักลอบนำเรือผิดกฎหมายกลุ่มนี้กลับเข้ามาทำการประมงได้อีก

การลงพื้นที่ดังกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อกำชับให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมและบริหารจัดการกองเรือต่อภาพรวมของการแก้ไขปัญหาประมง IUU ทั้งระบบ และส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดการควบคุมเรือไร้สัญชาติเรือที่ไม่มีข้อมูลในระบบทะเบียนเรือ และเรือที่ปฏิบัติผิดกฎหมายได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยกำลังพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมกองเรือประมงให้มีความรัดกุมมากขึ้น อาทิ กำหนดให้อู่ต่อเรือต้องขึ้นทะเบียน ต้องมีการตรวจสอบแปลนเรือก่อนการต่อเรือ ไม่รับจดทะเบียนเรือประมงที่ไม่มีการจัดทำอัตลักษณ์เรือหรือไม่มีหมายเลขขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เรือประมงที่ต่อใบอนุญาตใช้เรือต้องเข้ารับการตรวจสภาพเรือทุกลำ และแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติการจดทะเบียนเรือ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมเจ้าท่า กรมประมง ตำรวจ และทหารเรือ จากที่แต่เดิมมีแต่กรมเจ้าท่าเพียงหน่วยงานเดียว นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เรือขนถ่ายสินค้าขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสขึ้นไปทุกลำต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ AIS เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบการขนถ่ายสินค้าได้ตลอดเวลาด้วย

รัฐบาลไทยได้วางมาตรการควบคุมกองเรืออย่างเข้มงวด เพื่อให้มีจำนวนเรือที่ถูกกฎหมายสอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล และขจัดเรือประมงผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เรือกลุ่มนี้กลับเข้ามาทำการประมงได้อีก อันเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU อย่างยั่งยืน

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ