เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (Fisheries Monitoring Center – FMC) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมประมง เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงาน และติดตามการเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ FMC อย่างใกล้ชิด
ไทยได้จัดตั้งศูนย์ FMC ที่มีการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตลอด ๒๔ ชั่วโมง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุม เฝ้าระวัง สั่งการ ติดตามผล และประสานการปฏิบัติการต่าง ๆ กับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) โดยการทำงานของศูนย์ FMC มีการเชื่อมโยงกับระบบติดตามเรือประมง (VMS) ซึ่งจะควบคุมพฤติกรรมเรือประมง ตั้งแต่การทำประมงในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต การใช้เครื่องมือทำการประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย การขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล และการใช้แรงงานบนเรือ โดยระบบ VMS จะส่งข้อมูลที่ตั้ง เส้นทาง และพฤติกรรมของเรือประมงระหว่างออกทำประมงไปยังศูนย์ FMC และส่งต่อไปยังศูนย์ PIPO ๓๐ แห่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตรวจสอบเรือทั้งก่อนออกและหลังออกจากท่าเรือ
ในช่วงที่ผ่านมาไทยได้ยกระดับมาตรฐานอุปกรณ์ VMS ที่ติดตั้งในเรือประมง พร้อมพัฒนา software ของระบบ FMC/VMS ให้สามารถแสดงผลต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น อาทิ (๑) คัดแยกกลุ่มเรือประมงตามใบอนุญาตและประเภทของเรือ และแสดงที่อยู่ของเรือทุกลำได้ตามเวลาปัจุบัน (๒) บันทึกประวัติการเดินเรือและเปรียบเทียบเส้นทางการเดินเรือย้อนหลังของเรือจำนวน ๑๐ ลำได้พร้อมกัน (๓) แจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎระเบียบต่าง ๆ หรือเมื่อตรวจพบพฤติกรรมเสี่ยง รวมถึงเมื่อเรือสองลำลอยลำเข้าใกล้กันในระยะห่างน้อยกว่า ๕๐ เมตร หรือเมื่อเข้าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศที่สาม หรือเมื่อเรือไม่กลับเข้าฝั่งภายใน ๓๐ วันตามระเบียบที่กำหนด (๔) บันทึกประวัติการแจ้งเตือนและการฝ่าฝืนกฎ และจัดกลุ่มประเภทพฤติกรรมเพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ความเสี่ยง และ (๕) จัดกลุ่มเรือตามลำดับความเสี่ยง โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับการตรวจจากเจ้าหน้าที่ในระดับที่เข้มข้นต่างกัน
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาการจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ FMC/VMS ของกรมประมงเข้ากับฐานข้อมูล ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้แก่ กรมเจ้าท่า ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กระทรวงแรงงาน และตำรวจ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมการทำประมงของเรือประมงต่าง ๆ มาวิเคราะห์
เพื่อระบุลำดับความเสี่ยงของเรือประมง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการตรวจสอบเรือและการบังคับใช้กฎหมายกับเรือที่กระทำผิดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทางการไทยยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความเข้าใจกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีความระแวดระวังเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงของการทำประมงผิดกฎหมาย และมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี รองนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้ ศปมผ. จัดส่งเจ้าหน้าที่ ๕ นาย มาประจำที่ศูนย์ FMC เป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อติดตามการทำงานและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ และให้กำหนดกระบวนการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีแบบแผนและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้ข้อมูลจากศูนย์ FMC สามารถนำมาบังคับใช้ทางกฎหมายได้ทันที นับตั้งแต่การติดตามเฝ้าระวัง การสืบสวน การจับกุมผู้กระทำผิด และการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศูนย์ FMC ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำการทำประมงอย่างยั่งยืน และการเป็นประเทศปลอดจากสินค้าประมงและการทำประมงผิดกฎหมายทั้งระบบในช่วงอีก ๒ - ๓ ปีข้างหน้าต่อไป
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ