ผลการบรรยายสรุปแก่คณะทูต “The Eastern Economic Corridor (EEC) : Taking Off”

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 12, 2018 13:39 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จัดการบรรยายสรุปแก่คณะทูตต่างประเทศในหัวข้อ “The Eastern Economic Corridor (EEC) : Taking Off” ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานฯ และได้รับเกียรติจาก ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นผู้บรรยาย โดยมีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ ๕๕ ประเทศ และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า ๑๗๐ คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้กล่าวถึงนโยบาย EEC ในภาพรวมว่า การดำเนินโครงการ EEC มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๑ (พ.ร.บ. EEC) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ และปัจจุบันการดำเนินการในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยโครงการ EEC มีกลไกขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทย ๔.๐ ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเป้าหมาย และทรัพยากรมนุษย์ โดยคาดว่าในช่วง ๕ ปีแรก จะมีเงินลงทุนราว ๔.๓ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การพัฒนา EEC จะมุ่งเน้น ๓ มิติ ได้แก่ (๑) Connectivity หรือการพัฒนาที่ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการพัฒนาอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (๒) Inclusivity หรือการให้ความสำคัญและรับฟังความเห็นจากประชากรในพื้นที่เพื่อให้ประชากรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการและ (๓) Sustainability หรือการวางแผนและดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเมืองที่ทันสมัยระดับนานาชาติ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงและลดขั้นตอนกระบวนการ PPP เหลือเพียง ๘ เดือน เมื่อเทียบกับกระบวนการปกติที่ใช้เวลา ๔๐ เดือน โดยมีเป้าหมายที่จะเร่งรัดโครงการต่าง ๆ ให้สามารถเปิดประมูลได้ภายในปลายปี ๒๕๖๑ หรือต้นปี ๒๕๖๒ โดยตั้งเป้านำร่องเปิดประมูล ๖ โครงการโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า ๖.๐๘ แสนล้านบาท ได้แก่ (๑) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน(๒) โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (๓) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) (๔) ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ (๕) ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ ๓ (๖) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) นอกจากนี้ จะเร่งดำเนินการลงทุนอีก ๒ โครงการ คือ ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ อู่ตะเภา และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

เลขาธิการ กพอ. กล่าวถึงรายละเอียดของ พ.ร.บ. EEC ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ว่า มี ๓ องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ (๑) สำนักงานบริหารโครงการที่ถาวร (๒) กระบวนการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งมีศูนย์ One-Stop Service (OSS) กระบวนการ PPP และการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อบริการนักลงทุนอย่างครบวงจรและ (๓) กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงสถานะล่าสุดในพื้นที่โครงการซึ่งมีการจัดตั้ง Special Economic Promotional Zone ใน ๒๑ เขตพื้นที่อุตสาหกรรม และ ๔ เขตสำคัญ ได้แก่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินเมืองการบินภาคตะวันออก (EEC-A) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) รวมถึงการจัดทำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยว (EEC Tourism Plan) และแผนพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC ด้วย ทั้งนี้ กพอ. จะจัดทำคำแปล พรบ. EEC เป็นภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนสำหรับโครงการลงทุนที่มีความซับซ้อน

เลขาธิการบีโอไอกล่าวถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ว่า กิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะต้องเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้ (๑) เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (๒) ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) และในพื้นที่ EEC-A EECi EECd และเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ๒๑ แห่ง หรือนิคมอุตสาหกรรมในเขต EEC สำหรับสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนในพื้นที่ EEC จะได้รับ ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากมาตรการปกติ โดยยกเว้นสูงสุด ๑๓ ปี และล่าสุดได้มีมาตรการส่งเสริมสำหรับกิจการพัฒนา Smart City กิจการพัฒนาระบบสำหรับ Smart City และกิจการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๐มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC มีมูลค่า ๒.๙๖๙ แสนล้านบาท (๙.๒๘๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยบีโอไอตั้งเป้าว่าในปี ๒๕๖๑ จะมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC มูลค่า ๗.๒ แสนล้านบาท

คณะทูตได้แสดงความสนใจโครงการลงทุนต่าง ๆ และการพัฒนา Smart City ในพื้นที่ EEC โดยบางรายได้แสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลด้วย ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า จะเปิดให้ทั้งภาคเอกชนไทยและต่างชาติเข้าร่วมการประมูลแบบ International bidding ทุกโครงการ โดยจะเน้นความโปร่งใสและอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วนร้อยละ ๗๕ นอกจากนี้ ยังสร้างความมั่นใจให้แก่คณะทูตว่า โครงการ EEC จะมีความต่อเนื่องเพราะเป็นโครงการสำคัญของประเทศและได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย จึงมั่นใจว่าจะได้รับการสานต่อแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒

ภายในงานยังมีการออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการสำคัญต่าง ๆ ใน EEC รวม ๑๑ บูธ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน EECd EECi ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) โดยมีผู้ให้ความสนใจสอบถามข้อมูลเป็นจำนวนมาก

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ