ประเทศไทยได้ประกาศใช้ระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการตรวจแรงงานและการดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้การตรวจแรงงานและการดำเนินคดีในงานประมงทะเลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๑
พนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ ๒๒ จังหวัดชายทะเล จะดำเนินการตรวจแรงงานประมงทะเล ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบสภาพการจ้างงานจากการสัมภาษณ์แรงงาน การตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้าง ทะเบียนลูกจ้าง และหลักฐานเวลาพัก เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล โดยจะดำเนินการตรวจสอบ ทั้งที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ท่าเรือและแพปลา เรือประมงระหว่างทำการประมงในทะเล หรือที่สถานประกอบกิจการแปรรูปอาหารทะเล
หากพบนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ให้พนักงานดำเนินการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด และ/หรือแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีตามมาตรการปกครองและอาญา แล้วแต่ความหนักเบาแห่งข้อหาที่พบการกระทำความผิด
นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีอาญาทันทีในความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก ความผิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานจำนวนมาก และความผิดที่กระทำซ้ำครั้งที่สอง หลังจากที่เคยถูกออกคำสั่งมาแล้ว
ทั้งนี้ เรือที่พบการกระทำความผิดด้านแรงงานจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเรือเสี่ยงที่มีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันไปตามฐานความผิด และจะถูกสุ่มตรวจในระหว่างการแจ้งเข้า-ออกท่าเทียบเรือประมง และระหว่างการทำประมงกลางทะเลมากเป็นพิเศษกว่าการตรวจปกติ
ระเบียบการตรวจแรงงานฉบับนี้ถือเป็นคู่มือเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีแนวทางและขั้นตอนการปฎิบัติงานที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองแรงงานภาคประมง และการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเตรียมเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคประมง (C188) ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๑
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ