เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับคณะเอกอัครราชทูตจากสหภาพยุโรป จำนวน ๒๑ ประเทศ นำโดยนายปีร์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูต และหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่ให้ความช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลเยาวชนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง จ. เชียงราย พร้อมทั้งได้กล่าวถึงพัฒนาการของประเทศไทย โดยมีการปฏิรูปในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่มียุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี นโยบายประเทศไทย ๔.๐ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นกลไกขับเคลื่อน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๐.๙ ในปี ๒๕๕๗ เป็นร้อยละ ๔.๘ ในไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๑ ส่วนในด้านการเมือง ไทยกำลังพัฒนาไปสู่การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และเดินหน้าตามโรดแมปเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง รวมถึงพัฒนาการเชิงบวกด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยกล่าวยินดีต่อพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทย โดยหวังว่าไทยจะมีการเลือกตั้งตามโรปแมป และชื่นชมต่อการปฏิรูปด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทย
ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งได้เน้นการมองไปข้างหน้าร่วมกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป และกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีพลวัตความร่วมมือและเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้มากขึ้นในทุกด้าน ดังตัวอย่างการเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ ปลัดกระทรวงฯ ได้แจ้งให้คณะทูตฯ ทราบถึงประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในระหว่างการเยือนยุโรปว่า ไทยต้องการกระจายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไปยังประเทศยุโรปให้มากขึ้น และพร้อมที่จะดูแลให้การส่งเสริมการลงทุนของยุโรปในไทยเป็นไปอย่างเท่าเทียมและโปร่งใส ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการกลับมาเริ่มสำรวจหาลู่ทางรื้อฟื้น การเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป
ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยได้แจ้งลำดับความสำคัญของการเป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปของออสเตรียระหว่างเดือนกรกฎาคม–ธันวาคม ๒๕๖๑ และการให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเด็นความเชื่อมโยง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทหลักในภูมิภาค ในขณะที่ไทยได้แจ้งลำดับความสำคัญของการเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ ซึ่งจะเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนแนวทางที่ไทยกับยุโรปจะร่วมมือกันได้ในช่วงการเป็นประธานอาเซียน
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้แจ้งให้คณะทูตทราบถึงบทบาทของไทยในฐานะประธาน ACMECS ที่ผ่านมาโดยเฉพาะข้อริเริ่มในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS ระยะ ๕ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๓) และการจัดตั้งกองทุน ACMECS ซึ่งสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกสามารถเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาได้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยให้ความสำคัญกับแนวทางพหุภาคีนิยม และการปฏิบัติตามกฎกติการะหว่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมความเชื่อมโยงภายใต้กรอบการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ