ไทยจะรื้อทำลายซากเรือ ๗๗๙ ลำ เพื่อป้องกันเรือผิดกฎหมายกลับเข้าทำการประมง

ข่าวต่างประเทศ Monday September 3, 2018 13:52 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดของการจัดการกองเรือประมง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของไทย

รองนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นมา ได้สั่งการให้มีการสำรวจเรือและจัดทำอัตลักษณ์เรือประมงทุกลำ รวมทั้งสำรวจติดตามเรือประมงที่ได้รับแจ้งว่าจม ชำรุด หาย หรือขายไปต่างประเทศ โดยได้บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้ติดตามตรวจสอบสถานะเรือทุกลำ ซึ่งขณะนี้ได้ผลยืนยันชัดเจนว่า มีเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดจำนวน ๑๐,๗๔๓ ลำ โดยกรมเจ้าท่าได้ออกประกาศแจ้งรายชื่อเรือกลุ่มนี้ ซึ่งเรียกว่า “White List” แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รายชื่อเรือดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไป ผู้ซื้อ และผู้ขายเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ได้ใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงเพื่อการทำนิติสัมพันธ์ที่มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบข้อมูลเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายตามประกาศของกรมเจ้าท่า ได้แก่ (๑) เรือที่จดทะเบียนเรือไทยถูกต้องตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. ๒๔๘๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีใบอนุญาตใช้เรือที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (๒) เรือที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงถูกต้อง หรือจดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำถูกต้องตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ (๓) เรือที่มิได้ถูกใช้กระทำผิดกฎหมาย มิได้อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี และมิได้ถูกยึด อายัด หรือกักไว้โดยศาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

กรมเจ้าท่าได้ประชาสัมพันธ์รายชื่อเรือดังกล่าวบนเว็บไซต์ของกรมเจ้าท่าแล้วที่ http://www.md.go.th โดยในระยะแรก จะมีการตรวจสอบและปรับปรุงรายชื่อดังกล่าวทุกวัน และจะพัฒนาให้เป็นแบบ real-time ในที่สุด เพื่อให้การตรวจสอบเรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด และช่วยคุ้มครองประโยชน์ให้แก่กลุ่มเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า ทางการไทยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจำนวนซากเรือต่าง ๆ ที่กีดขวางทางน้ำหรือทางเดินเรือในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ๒๒ จังหวัด ซึ่งพบซากเรือจำนวน ๗๗๙ ลำ และกรมเจ้าท่าได้ประกาศให้เจ้าของเรือมาแสดงตนเพื่อรื้อทำลายเรือภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นมา โดยเรือกลุ่มแรก ๔๕๗ ลำ ที่จะครบกำหนดในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ จะต้องถูกดำเนินการตามมาตรา ๑๒๑ ของพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยให้เจ้าของซากเรือเข้ามาแสดงตนเพื่อทำลายซากเรือของตนเอง หรือหากไม่มีเจ้าของแสดงตนภายในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ กรมเจ้าท่าจะทำลายซากเรือเหล่านั้นเอง และจะดำเนินมาตรการเช่นเดียวกันกับเรือที่เหลืออีก ๓๒๒ ลำ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๑

รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า การประกาศจำนวนกองเรือประมงไทยที่ชัดเจนนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทย โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบกองเรือประมงไทยทั้งหมดเพื่อให้มีความชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการจำนวนเรือให้สมดุลกับทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมเจ้าท่าและกรมประมง นอกจากนี้ การรื้อทำลายซากเรือยังเป็นการป้องกันมิให้เรือผิดกฎหมายลักลอบกลับเข้ามาทำการประมงได้อีก ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นในสินค้าประมงไทย และคงไว้ซึ่งการทำประมงที่ยั่งยืนให้แก่ชาวประมงและอุตสาหกรรมประมงไทยในระยะยาว

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ