เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่องสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (ESCAP) โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์
สำนักงานกิจการการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disarmament Affairs: UNODA) และศูนย์ภูมิภาคเพื่อสันติภาพและการลดอาวุธในเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Regional Centre for Peace and Disarmament in Asia and the Pacific: UNRCPD)
การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสนธิสัญญาฯ และสนับสนุน ให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและติมอร์-เลสเต นิวซีแลนด์ และออสเตรีย โดยฝ่ายไทยมีนายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ ยังมีผู้แทนจาก UNODA และภาคประชาสังคม ได้แก่ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) และ International Campaign to Abolish Nuclear Weapons (ICAN) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2560 ร่วมเป็นวิทยากร
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการลดอาวุธนิวเคลียร์ และสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น การใช้ระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อปี 2488 โดยนางสาวเดลล์ ฮิกกี (H.E. Ms. Dell Higgie) เอกอัครราชทูตและผู้แทนนิวซีแลนด์ประจำการประชุม ว่าด้วยการลดอาวุธ (Conference on Disarmament) กล่าวสนับสนุนสนธิสัญญาฯ และการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวของไทย รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามสนธิสัญญาฯ โดยเฉพาะระหว่างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ต่าง ๆ ในโลก
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมได้แก่ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และอดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนไทยถาวรประจำสหประชาชาติ และนางสาวเอวา ฮาเกอร์ (H.E. Ms. Eva Hager) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นมา ขอบเขตทางกฎหมายของสนธิสัญญาฯ ได้หารือเปรียบเทียบสนธิสัญญาฯ กับข้อตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้านการลดและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในเรื่องการลงนามและการให้สัตยาบันของประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อที่จะสร้างความตระหนักรู้ถึงการขจัดอาวุธนิวเคลียร์
ปัจจุบัน สนธิสัญญาฯ มีรัฐผู้ลงนาม 60 ประเทศ และมี 14 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว โดยไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศแรกที่ลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาในวันที่เปิดให้ลงนาม สำหรับอาเซียนมีไทยและเวียดนามที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว ทั้งนี้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ มีสถานะเป็นรัฐผู้ลงนาม
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ