เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๑ นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบสัตยาบันสารของไทยเพื่อเข้าเป็นภาคีกฎบัตรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center – ADPC) โดยมี ดร.พิจิตต รัตตกุล เลขาธิการและที่ปรึกษามูลนิธิ ADPC เป็นผู้รับมอบ
การให้สัตยาบันกฎบัตร ADPC ของไทย มีผลให้กฎบัตรฯ มีผลใช้บังคับ และทำให้ ADPC เปลี่ยนสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศจากเดิมที่มีสถานะเป็นเพียงมูลนิธิภายใต้กฎหมายไทย ทั้งนี้ การเปลี่ยนสถานะของ ADPC จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนและประชาชนในพื้นที่ที่ ADPC ดำเนินโครงการจะได้รับความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ นอกจากนี้ การที่ ADPC มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย จะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางการบริหารจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในฐานะที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศในเอเชีย (Geneva of Asia) ด้วย
ในลำดับต่อไป ADPC จะต้องดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล (Board of Trustees) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการจัดการและการดำเนินงานขององค์กรให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ADPC ที่เน้นการเตรียมพร้อมป้องกันและลดภัยพิบัติ เพื่อให้ชุมชนและสังคมมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และจะเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียในประเทศไทย (Host Country Agreement) เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่เหมาะสมของรัฐบาลไทยแก่ ADPC ต่อไป ซึ่งรัฐบาลไทยในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง ADPC จะสามารถแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการกำกับดูแลได้ด้วย
อนึ่ง ADPC เป็นองค์กรระดับภูมิภาคด้านการบรรเทาภัยพิบัติเพื่อชุมชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ และได้เสนอร่างกฎบัตรให้ประเทศสมาชิกก่อตั้ง ได้แก่ ไทย กัมพูชา จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และอินเดีย พิจารณาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อยกสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกก่อตั้งรวมถึงไทยได้ลงนามกฎบัตรฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และทยอยให้สัตยาบันกฎบัตรฯ จนครบทุกประเทศ เป็นผลให้ ADPC มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ