เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมของไทยในการเป็นประธานอาเซียน ซึ่งไทยจะรับมอบตำแหน่งประธานจากสิงคโปร์ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ระหว่างพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๓ และจะเริ่มดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒
ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าของการเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการ ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) คณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ (๒) คณะอนุกรรมการด้านพิธีการและอำนวยการ และ (๓) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ โดยได้หารือประเด็นสำคัญ ได้แก่
๑. แผนการจัดประชุม และการหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเตรียมการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย ปี ๒๕๖๒ ซึ่งจะมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย
๒. การจัดทำเว็บไซต์กลางเพื่อใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกำหนดการ ข่าวการประชุม ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียนที่เป็นประโยชน์ การลงทะเบียนสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชน และการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะจัดทำเป็นสองภาษา (ไทยและอังกฤษ) และรองรับการใช้งานสำหรับผู้พิการทางสายตา
๓. ตราสัญลักษณ์ (Logo) ของการเป็นประธานอาเซียนของไทย ซึ่งได้ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจำนวน ๑๐ รายแล้ว เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑ โดยทั้งหมดจะได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายนนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับฟังคำแนะนำในการปรับปรุงผลงานการประกวดในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งจะคัดให้เหลือ ๕ คนต่อไป
ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ที่ชนะเลิศ จะถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของทุกการประชุมและกิจกรรม และปรากฏอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ และของที่ระลึกทั้งหมด ตลอดช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน
๔. การจัดทำวีดิทัศน์สำหรับการเปิดตัวการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งจะฉายระหว่างพิธีรับมอบตำแหน่งประธานในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่สิงคโปร์ โดยจะจัดทำทั้งภาษาอังกฤษและไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง
๕. ความคืบหน้าการดำเนินการด้านสารัตถะ ได้แก่ การดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดหลัก (Theme) ข้อเสนอใหม่ที่ไทยจะผลักดันในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธาน และการมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของทั้งสามเสาความร่วมมือ โดยมีตัวขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ที่คาบเกี่ยวทั้ง ๓ เสาประชาคมอาเซียน ได้แก่ ความเชื่อมโยง (Connectivity) ความยั่งยืน (Sustainability) และการเตรียมความพร้อมและวางแผนสำหรับอนาคต (Future-orientation) เพื่อการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๖. การเตรียมความพร้อมจัดประชุม โดยเฉพาะการเตรียมการด้านสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ และ ๓๕ และการจัดประชุมอื่น ๆ ซึ่งจะมีไม่น้อยกว่า ๑๗๐ การประชุมตลอดทั้งปี การจัดพิธีการต้อนรับ การจัดการแสดงทางวัฒนธรรม และการจัดเตรียมของขวัญของที่ระลึกสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม
๗. การจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบ ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์สมัยใหม่ โดยปัจจุบันได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ/สปอตประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และ สื่อออนไลน์ และมีการตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ด้วยแล้ว เพื่อเร่งสร้างความตระหนักรู้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกร่วมทั้งภายในประเทศ และทั้งภูมิภาคอาเซียน ในการนี้ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ทั้งหมดจะนำผลการประชุมไปหารือและปฏิบัติเพื่อให้เกิดความคืบหน้าและผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ