รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum on ASEAN ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑

ข่าวต่างประเทศ Friday September 21, 2018 14:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) on ASEAN ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ ณ กรุงฮานอย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ASEAN 4.0: Entrepreneurship and the Fourth Industrial Revolution”

ในช่วงพิธีเปิดการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ศ.ดร. Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและ Executive Chairman ของ WEF นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (นาง Aung San Suu Kyi) รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน (นาย Hu Chunhua) และผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ (นาย Fabrizio Hochschild) ร่วมกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นเรื่อง “อนาคตของอาเซียนในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ (4IR)” โดยเห็นพ้องกันว่า อาเซียนต้องให้ความสำคัญ ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการพัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงาน (๒) การส่งเสริมความเชื่อมโยง

ทั้งทางกายภาพ ดิจิทัล กฎระเบียบ และประชาชน (๓) การบ่มเพาะผู้ประกอบการ startups และวิสาหกิจ MSMEs และ (๔) การสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีความยั่งยืน และตอบสนองต่อการบรรลุ SDGs

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวในส่วนของประเทศไทย ว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของ 4IR ในระดับประเทศ รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายประเทศไทย ๔.๐ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างคุณค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการสร้างสังคม ๔.๐ ที่ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และในระดับภูมิภาค ไทยเน้นบทบาทการเป็น “ผู้สร้างความเชื่อมโยง” ในทุกมิติ ผ่านการสอดประสานของแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้ง ACMECS BIMSTEC อาเซียน รวมถึงเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ

ในช่วงเที่ยง รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำรัฐบาลและผู้บริหารชั้นนำจากภาคเอกชน (CEO Luncheon) อาทิ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Grab ผู้บริหารบริษัท VISA โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในมุมมองภาคเอกชน ซึ่งผู้แทนภาคธุรกิจเห็นพ้องกับ ๔ ประเด็นสำคัญที่ผู้นำได้กล่าวถึงในช่วงเช้า และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มเติม อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องให้ความสำคัญกับ Life-long Learning และการทบทวนทักษะ (Re-training) ในส่วนของแหล่งเงินทุน ควรใช้ประโยชน์จากเงินทุนในอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อส่งเสริม e-commerce ให้แพร่หลาย

จากนั้นเวลา ๑๗.๓๐ น. รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เข้าร่วมการเสวนาวาระพิเศษ หัวข้อ “A New Vision for the Mekong Region” ร่วมกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีผู้เข้ารับฟังกว่า ๔๐๐ คน ซึ่งในการเสวนาวาระนี้ ผู้นำรัฐบาลที่เข้าร่วมต่างกล่าวเป็นทางเดียวกันว่า การรวมกลุ่มของประเทศในลุ่มน้ำโขง คือ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และไทย นั้น ได้สร้างความสันติสุขและความร่วมมือ อันเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมความเป็นอยู่ต่อไป ซึ่งกรอบความร่วมมือ ACMECS ที่ไทยได้ดำริขึ้นและเพิ่งจัดการประชุมระดับผู้นำไปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ จะช่วยผลักดันความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งด้านกายภาพ ด้านสถาบัน และระหว่างประชาชนต่อไป สำหรับไทยนั้น รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำว่า ไทยเห็น ACMECS เป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคง ยั่งยืน เพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกรอบ ACMECS จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และพลังงาน ในระดับอาเซียน และเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เอเชียใต้ และยุโรปต่อไป

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้พบหารือกับ (๑) ศ.ดร. Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง WEF ซึ่งได้กล่าวชื่นชมนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และการส่งเสริมความเชื่อมโยง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ และแสดงความประสงค์จะร่วมมือกับไทยต่อไป และ (๒) นาย Johan de Villiers กรรมการผู้จัดการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ABB Group ซึ่งเป็นบริษัทแนวหน้าด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยีของโลก ได้ชื่นชมนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยว่า เอื้ออำนวยและไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมาก โดย ABB พร้อมร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทยในการผลิตบุคลากรที่พร้อมสำหรับยุค 4IR

อนึ่ง การประชุม WEF on ASEAN เป็นเวทีการประชุมระดับภูมิภาคประจำปีของ WEF ที่เป็นการรวมตัวของเครือข่ายผู้นำภาคการเมือง ธุรกิจ และภาคประชาสังคม มีการถ่ายทอดวิสัยทัศน์และนโยบายสำคัญจากผู้นำประเทศและภาคธุรกิจที่มีอิทธิพลของโลก เพื่อเสนอแนะทิศทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาสำหรับภูมิภาคอาเซียน โดยในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ ๒,๐๐๐ คน

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ