เมื่อวันที่ ๑๙ – ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก โดยมีเอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ๖ ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย เคนยา เซเนกัล โมซัมบิก และมาดากัสการ์ เข้าร่วม
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ได้มีโอกาสหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือกับความท้าทายและข้อจำกัดที่กำลังเผชิญอยู่ และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายในภูมิภาค รวมทั้งกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ในการดำเนินความสัมพันธ์แบบยั่งยืนกับประเทศยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) แผนแม่บทด้านการต่างประเทศระยะ ๒๐ ปี และกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙)
ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกระทรวงฯ รวมถึงได้พิจารณานโยบายของรัฐบาลในการดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกกับประเทศในแอฟริกาด้วย โดยผลลัพธ์จากการประชุมดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราจะร่วมกันส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในแอฟริกาในระยะ ๒ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๓) ดังนี้
๑. การผลักดันผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของไทยในแอฟริกา เน้นสร้างความร่วมมือกับประเทศที่เป็นคู่ค้าและนักลงทุน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แสวงหาลู่ทางเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการไทยผ่านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ตลาดโลก และเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ พร้อมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
๒. การใช้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเป็นกลไกผลักดันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับแอฟริกา มุ่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ไทยในฐานะที่เป็น “มิตรที่ไม่ฉกฉวยโอกาส” เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากแอฟริกา ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ระหว่างไทยกับแอฟริกา โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน
๓. การสนับสนุนให้สาธารณชนไทยและแอฟริการู้จักกันมากขึ้น โดยใช้การทูตสาธารณะเป็นกลไกในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและภาพลักษณ์อันดีของไทย
๔. การดูแลสวัสดิการและผลประโยชน์คนไทยในแอฟริกา มุ่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งให้บริการด้านกงสุลที่ดีและทั่วถึงแก่คนไทยที่พำนักอยู่ในภูมิภาคดังกล่าวตามนโยบายการทูตเพื่อประชาชนของกระทรวงการต่างประเทศ
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ