คำปราศรัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสหประชาชาติ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 25, 2018 13:43 —กระทรวงการต่างประเทศ

พี่น้องชาวไทยที่รัก

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ องค์การสากลระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของโลก จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง ปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่มวลมนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม โลกยังเผชิญกับปัญหาสำคัญและความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามจนนำไปสู่การใช้กำลังอาวุธ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและเกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความท้าทายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องร่วมมือกันและรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายอย่างเป็นระบบและมีผลที่ยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

การรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยกรอบการทำงานภายใต้ระบบพหุภาคีนิยม ซึ่งคือการที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทำงานร่วมกันและมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยกัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและบรรลุเป้าหมายเดียวกัน สอดคล้องกับเสาหลัก ๓ เสา ของสหประชาชาติ ได้แก่ การพัฒนา ?สิทธิมนุษยชน และ สันติภาพและความมั่นคง

ในด้านการพัฒนา เมื่อปี ๒๕๕๘ ผมได้ไปร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ?ด้วยการสร้างกลไกการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ รัฐบาลได้เดินหน้าสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ให้ไทยเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในประชาคมโลก ภายใต้แนวคิด “เข้มแข็งไปด้วยกัน” โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEP ไปใช้เป็นแนวทางในการบรรลุ SDGs สมาชิกกลุ่ม ๗๗ ได้นำ SEP ไปปฏิบัติ และเป็นหุ้นส่วนกับไทยในแนวคิด “SEP for SDGs” แล้วกว่า ๒๐ ประเทศ

ด้านสิทธิมนุษยชน ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ สิทธิมนุษยชน โดยสอดคล้องพันธกรณีภายใต้ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี ซึ่งขณะนี้ ไทยอยู่ในขั้นสุดท้ายของการจัดทำร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ และร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนรวมถึงหน่วยงานสหประชาชาติและภาคประชาสังคม การส่งเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชน ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนทัศนคติที่เปิดรับและมีความพร้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

ในด้านสันติภาพและความมั่นคง ไทยสนับสนุนความมุ่งมั่นของเลขาธิการสหประชาชาติในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสันติภาพและความมั่นคงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ไทยเชื่อว่า สันติภาพที่ยั่งยืนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมรอบด้าน และการพัฒนาจะช่วยธำรงรักษาสันติภาพได้

และในปีนี้ ไทยจะส่งกองกำลังทหารช่างเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพในสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน โดยมีเป้าประสงค์สำคัญเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เซาท์ซูดานมีสันติภาพที่ยั่งยืน

ไทยได้แสดงบทบาทที่แข็งขันในเวทีระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเรื่องการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศแรกของโลกที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๐ และในปีนี้ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ไทยได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์

ไทยยังสนับสนุนความพยายามของเลขาธิการสหประชาชาติที่จะปฏิรูประบบสหประชาชาติที่มีประสิทธิภาพ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอสแคป (ESCAP) ซึ่งเป็นกลไกระดับภูมิภาคที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และรัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งสำนักงานและการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย

ในปี ๒๕๖๒ ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกวาระหนึ่ง และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียนให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไทยจะเสริมสร้างความเข้มแข็งความเป็นหุ้นส่วนกับสหประชาชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ของไทยในเวทีโลกต่อไป ซึ่งผมเห็นว่า ยังมีโอกาสและศักยภาพที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในการทำงานระหว่างไทยกับสหประชาชาติต่อไปได้อีกมาก

ขอบคุณครับ

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ