เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมของไทยในการเป็นประธานอาเซียน ก่อนที่ไทยจะรับมอบตำแหน่งประธานจากสิงคโปร์ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ระหว่างพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๓ และจะเริ่มดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒
ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าของการเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ โดยได้หารือประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.ตราสัญลักษณ์ (Logo) ของการเป็นประธานอาเซียนของไทย ซึ่งจะนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของ ทุกการประชุมและกิจกรรมที่จะจัดตลอดปี ๒๕๖๒ รวมทั้งจะปรากฏบนตราไปรษณียากรและของที่ระลึกต่าง ๆ โดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเครือข่ายมหาวิทยาลัยได้คัดเลือกผลงานชนะเลิศจากการประกวดออกแบบภายใต้โครงการประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติแล้ว และมีกำหนดเปิดตัวตราสัญลักษณ์ครั้งแรกในการรับมอบตำแหน่งประธานจากสิงคโปร์ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ทั้งนี้ จะมีการเผยแพร่สกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับโครงการประกวดฯ ดังกล่าวทางโทรทัศน์ และกระทรวงการต่างประเทศจะนำผลงานของผู้ส่งเข้าประกวดทั้งหมดไปจัดนิทรรศการให้ประชาชนได้รับชมอีกด้วย
1.การจัดทำเว็บไซต์กลางเพื่อใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกำหนดการ ข่าวการประชุม การส่งภาพข่าว การลงทะเบียนสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชน และการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ
1.แนวคิดหลัก (Theme) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นหุ้นส่วนและการก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความยั่งยืน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมองไปสู่อนาคต โดยที่ประชุมพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดหลักกับสามเสาความร่วมมือของอาเซียน และเอกสารผลลัพธ์ต่าง ๆ ตลอดช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และมีกำหนดเปิดตัวแนวคิดหลักของไทยในพิธีรับมอบตำแหน่งประธานจากสิงคโปร์ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
1.แผนการจัดประชุม การเตรียมการด้านสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ และ ๓๕ และการจัดประชุมอื่น ๆ ซึ่งจะมีไม่น้อยกว่า ๑๗๐ การประชุมตลอดทั้งปี และการเตรียมการต้อนรับผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมคู่ขนาน ที่จะเป็นโอกาสให้ผู้แทนจากภาคเอกชนได้มีส่วนร่วม และแผนการจัดประชุมในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green meeting)
1.การจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งได้มีการตั้งบัญชี social media สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยโดยเฉพาะ และจะเปิดตัวพร้อมกับเว็บไซต์กลาง ตราสัญลักษณ์ และแนวคิดหลัก นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๒ จะมีการจัดกิจกรรมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ตลอดทั้งปี เช่น การจัดประกวดภาพถ่าย เป็นต้น
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ