กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดตัวระบบ e-Visa อำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการยื่นขอรับการตรวจลงตราหรือ วีซ่า ผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่การกรอกแบบฟอร์ม ยื่นเอกสาร พร้อมรับชำระค่าธรรมเนียมแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบของธนาคารกสิกรไทย สะดวก ทุกที่ทุกเวลา บนระบบที่มีความปลอดภัยมาตรฐานโลก โดยจะให้บริการที่แรกในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ก่อนขยายไปเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีน ในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ตามด้วยสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒ พร้อมตั้งเป้าหมายขยายสู่ทุกประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศทั่วโลก ภายใน ๓ ปี
นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล เปิดเผยว่า ในปี ๒๕๖๐ ประเทศไทยมีชาวต่างชาติยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศมากกว่า ๘ ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการขอวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ ๘๕ และประเทศที่มีการขอวีซ่ามากที่สุดคือประเทศจีน ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการยื่นขอรับวีซ่า กรมการกงสุลในฐานะผู้ทำหน้าที่ตรวจลงตราคนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย จึงได้พัฒนาระบบตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย หรือ Thai e-Visa ให้ชาวต่างชาติสามารถยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทยทุกประเภท ผ่านทางออนไลน์บนเว็บไซต์ www.thaievisa.go.th
บริการ Thai e-Visa นับเป็นมิติใหม่ของการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทย ซึ่งมีจุดเด่นสำคัญ ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) ความสะดวกรวดเร็ว นักท่องเที่ยวสามารถเริ่มต้นกระบวนการขอวีซ่านออนไลน์ด้วยตนเองตั้งแต่การกรอกแบบฟอร์ม ยื่นเอกสาร การชำระค่าธรรมเนียมแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบของธนาคารกสิกรไทย (E-Payment) และทำการนัดหมายวัน-เวลาที่สะดวกผ่านระบบเพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือเดินทางที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ (๒) สามารถใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยระบบออนไลน์ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ และ (๓) ปลอดภัยสูงสุด ด้วยระบบการชำระเงินที่มีเทคโนโลยีความปลอดภัยมาตรฐานโลก
นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาเมืองไทยเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ แล้ว บริการ Thai e-Visa ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่กงสุลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมการกงสุลกล่าวเสริมว่า กรมการกงสุลมุ่งพัฒนาระบบตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพเต็มรูปแบบ โดยในอนาคตการตรวจลงตราบางประเภทจะไม่จำเป็นต้องติดแผ่นปะลงในหนังสือเดินทาง แต่จะเป็นการแจ้งผลทางอีเมล์และส่งผลการตรวจลงตราไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองผ่านระบบเชื่อมโยงที่พัฒนาร่วมกัน พร้อมกับการนำระบบชีวมาตร หรือ biometric มาใช้ในการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล หรือการนำเทคโนโลยี Robotic Process Automation มาใช้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ขอวีซ่า เป็นต้น
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ