รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย – จีน (คกร.) ครั้งที่ ๒๒

ข่าวต่างประเทศ Monday December 17, 2018 14:04 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายจาง เจี้ยนกว๋อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ ไทย - จีน (คกร.) ครั้งที่ ๒๒ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา

การประชุมคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย - จีน เป็นกลไกความร่วมมือภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ และวิชาการ ซึ่งลงนามเมื่อปี ๒๕๒๑ มีกำหนดจัดการประชุมทุก ๒ ปี โดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีติดตามผลและอนุมัติการดำเนินงานโครงการซึ่งมีรูปแบบความร่วมมือ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนการดูงาน โครงการวิจัยและ พัฒนาร่วม โครงการความร่วมมือทวิภาคี รวมทั้งความร่วมมือไตรภาคีที่ทั้งสองฝ่ายได้ขยายความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการให้แก่ประเทศที่สามด้วย โดยมี 5 สาขาสำคัญ ได้แก่ การเกษตร สาธารณสุข พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

คณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย - จีน ครั้งที่ 22 ได้ติดตามและรายงานผลการดำเนินโครงการตามมติที่ประชุม ครั้งที่ ๒๑ และได้พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการแลกเปลี่ยนการดูงาน รวม ๖ โครงการ และโครงการทวิภาคี ๖ โครงการ ในด้านที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น การบริหารจัดการแหล่งน้ำระดับชุมชน พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก พลังงานสีเขียว พืชสมุนไพร การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการใช้ระบบเซนเซอร์ติดตามตัวเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบอัจฉริยะ

ไทยและจีนเห็นพ้องที่จะขยายสาขาของความร่วมมือในทุกระดับ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การส่งเสริมความร่วมมือระดับท้องถิ่นของไทยกับมณฑลของจีน และความร่วมมือในระดับรัฐบาลในการก่อตั้งสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย - จีน ในประเทศไทย เช่น ศูนย์วิจัยร่วม ไทย - จีน ด้านระบบรางรถไฟ สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ และอุทยานวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้ฝ่ายจีนขยายความร่วมมือในประเด็นที่ไทยให้ความสนใจเชิงนโยบาย เช่น การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ของไทย และกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑล กวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area - GBA) ของจีน และได้เชิญชวนฝ่ายจีนร่วมมือกับไทยในลักษณะไตรภาคีเพื่อสนับสนุนกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) และความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงระหว่าง ACMECS กับกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation - MLC) ที่ริเริ่มโดยไทยและมีประเทศเป้าหมายเป็นกลุ่มเดียวกัน

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ