เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ จัด “งานครบรอบ ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ ๑ ปี การประกาศวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน – มุ่งสู่สังคมที่ห่วงใยและแบ่งปัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย ดร. วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมกับนายสมณ์ พรหมรศ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และนางสาว Cynthia Veliko ผู้แทน OHCHR ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีคณะทูตานุทูต ผู้แทนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ เยาวชน และประชาชนที่สนใจ รวมประมาณ ๑๕๐ คน เข้าร่วม
งานครบรอบ ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย สนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยและระหว่างประเทศ และย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Thailand’s Human Rights Month ร่วมจัดโดยหน่วยงานของไทยและต่างประเทศ และภาคประชาสังคม
กิจกรรมหลักประกอบด้วย (๑) การเสวนากับ น.ส.ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาตประจำประเทศไทย (๒) การเปิดตัวโครงการสื่อไทยกับการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง โดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศ (๓) การเปิดตัวหนังสือ “ความฝันของเด็กชายก้อนเมฆ” นิทานชุดส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดย น.ส. กนกนันท์ ธูปะเตมีย์ นักเขียนเยาวชน (๔) การสนทนากับ ALEX FACE และ MUE BON ศิลปินสตรีทอาร์ต นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานได้พ่นสีงานศิลปะบนพื้นผ้าใบที่สะท้อนการเฉลิมฉลอง ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ ALEX FACE และ MUE BON (live painting) โดยผลงานจะนำไปมอบให้สหประชาชาติในโอกาสที่เหมาะสม
ในโอกาสนี้ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างสังคมที่ห่วงใยและแบ่งปัน โดยเน้นว่า (๑) ไทยมีต้นทุนที่ดีในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ที่ผ่านมา ไทยมีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่องและมีความมุ่งมั่นในระดับสูง รวมถึงการประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ (๒) ไทยจะไม่หยุดที่จะพัฒนาและต่อยอดการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะความท้าทาย คือ โอกาสที่จะปรับปรุงให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทในการ “เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย” (๓) นวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการเสนอวิธีการแก้ไขรูปแบบใหม่ ๆ ที่จับต้องได้ การเข้าถึงกลุ่มเยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ผ่านสื่อและวิธีใหม่ ๆ (๔) การปฏิบัติและการมีความส่วนร่วมโดยทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน
ผู้สนใจสามารถติดตามภาพกิจกรรมได้ที่ Facebook page: Rights Now และคลิปวีดีโอ ที่ Facebook page: กระทรวงการต่างประเทศ
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ