ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานเกี่ยวกับข้อวิจารณ์นโยบายต่างประเทศ นั้น
กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้
๑) รัฐบาลภายใต้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยคำนึงถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลกับมหาอำนาจและมิตรประเทศที่สำคัญโดยเน้นการรักษาความสมดุล อย่างสร้างสรรค์เชิงยุทธศาสตร์โดยยึดหลักการเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) การไว้เนื้อเชื่อใจ (mutual trust) และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit)
๒) รัฐบาลไทยได้มีปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาค
๓) อย่างไรก็ตาม ไทยได้ดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย อย่างแน่นแฟ้นต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาทิ การที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ทั้งนี้ ไทยได้กระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในทุกด้านเช่นกัน โดยล่าสุดไทยได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นกับญี่ปุ่น รวมทั้งการนำนักธุรกิจญี่ปุ่น ๖๐๐ กว่าคนเยือนเขต EEC สำหรับจีนนั่น ได้มีการพบปะหารือกันในหลายระดับเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติเช่นกัน
๔) ไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายและรักษาความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหภาพยุโรป ซึ่งสะท้อนได้ย่างชัดเจนจากการที่สหภาพยุโรปได้มีข้อมติเมื่อธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อรื้อฟื้นการมีปฏิสัมพันธ์กับไทยในระดับสูงซึ่งปูทางไปสู่การเยือนสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนีในกรอบทวิภาคี รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ ASEM ที่กรุงบรัสเซลส์ของนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๖๑โดยผู้นำทุกประเทศได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะเป็นอย่างดีและเกิดผลเชิงรูปธรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งของภาคธุรกิจเอกชน
๕) การรักษาความสมดุลเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนแม่บทด้านการต่างประเทศ ซึ่งระบุว่าไทยจะรักษาความสมดุลกับประเทศมหาอำนาจในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาวโดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์และบนผลประโยชน์ของชาติและการเคารพหลักสากลระหว่างประเทศ
๖) สรุปได้ว่า นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย รวมทั้งได้เยือนญี่ปุ่น เยอรมนีและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกด้วย
๗) เพื่อธำรงความสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ ไทยสนับสนุนนโยบายพหุภาคีนิยม (multilateralism) ความร่วมมือภูมิภาคและอนุภูมิภาค และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศโดยไทยประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้อนุภูมิภาคผ่านกรอบ ACMECS ซึ่งประเทศนอกภูมิภาคแสดงความสนใจอย่างมาก และการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการเป็นแกนกลางของอาเซียนซึ่งไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ ซึ่งนานาประเทศได้ให้การสนับสนุนไทยด้วยดี
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ