ผลการจัดการประชุม ASEM High-Level Meeting on Marine Sustainability

ข่าวต่างประเทศ Monday March 11, 2019 13:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM High-Level Meeting on Marine Sustainability ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และนาย Net Pheaktra รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นาย Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นาง Kjersti Rodsmoen เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย นาย Kazushige Endo ผู้อำนวยการ United Nations Centre for Regional Develoment (UNCRD) ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) องค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเยาวชน จากภูมิภาคเอเชียและยุโรปเข้าร่วมกว่า ๑๗๐ คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเลร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในกรอบ ASEM โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการจัดประชุมนี้ ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดจากการประชุม ASEM Meeting on Sustainable Marine Environment: Marine Debris ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปลายปี ๒๕๖๑ และในปีนี้ ได้จัดขึ้นในช่วงเดียวกับการประชุม Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris และการประชุม 9th Regional 3R Forum in Asia and the Pacific ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้ย้ำถึงท่าทีและบทบาทของไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๑๔ ว่าด้วย การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ดังจะเห็นได้จากความพยายามของไทยในการจัดทำแผนจัดการมลพิษ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) และแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของประเทศ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔) การรณรงค์ลดการใช้พลาสติก การวิจัยเรื่องการใช้วัสดุทดแทนพลาสติก และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะการรับมือกับปัญหาขยะทะเล รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in partnership with the EU ในเดือนเมษายน ๒๕๖๒ โดยไทยประสงค์ที่จะส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปเพื่อหามาตรการระดับโลก เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับทะเลได้อย่างยั่งยืน

นอกจากการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับสูงอื่น ๆ แล้ว ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ และผู้แทนจากภาคประชาสังคม ทั้งจากภูมิภาคเอเชียและยุโรป ได้เข้าร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในระหว่างการอภิปรายภายใต้หัวข้อหลัก ๓ หัวข้อ ได้แก่ (๑) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเอเชียและยุโรป เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และแนวคิด SMART Ocean (๒) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล (Blue Economy) อย่างยั่งยืน และ (๓) แนวทางการจัดการขยะและมลพิษทางทะเล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก ASEM ในด้านการส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเล และการแก้ไขปัญหาขยะทะเลด้วย ซึ่งประเทศไทยจะได้นำข้อเสนอแนะและผลลัพธ์จากการประชุมรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๔ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงมาดริดต่อไป

ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน คลองโคน ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่จังหวัดสมุทรสงคราม สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยแก่ประเทศสมาชิก ASEM เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนและทรัพยากรทางธรรมชาติด้วยวิถีชุมชน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาต้นแบบของเศรษฐกิจทางทะเล ที่เน้นถึงการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๗๐ คน

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ