กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) จัดการประชุมระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน หัวข้อ “High Level Regional Conference: Synchronising Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025” ระหว่างวันที่ ๓ – ๔ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะให้เกียรติกล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๒ โดยมีนาย Yury Fedotov ผู้อำนวยการใหญ่ของ UNODC ร่วมกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าวด้วย หลังจากนั้น พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเป็นประธานในการประชุม ซึ่งจะมีผู้แทนระดับสูง อาทิ รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของไทยจำนวนประมาณ ๑๐๐ คน เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย
ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่อาเซียนในทุกมิติจึงต้องการจะผลักดันในเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เป็นแนวทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคง เสถียรภาพและความปลอดภัยให้แก่ภูมิภาคควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้า การเดินทางสัญจรข้ามพรมแดนของประชาชนประเทศอาเซียน เพื่อรับรองการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเริ่มใช้ระบบ ASEAN Single Window อย่างเต็มรูปแบบในปีนี้
การประชุม “High Level Regional Conference: Synchronising Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025” จะเป็นเวทีในการหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนอาเซียนใน ๓ ประเด็นหลัก คือ (๑) แนวนโยบายของอาเซียน กรอบกฎหมาย และกรอบยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการชายแดน (ASEAN policy, Legal and Strategic Frameworks Related to Border Management) (๒) การคำนึงถึงมิติด้านความมั่นคงในแผนงานเพื่อการบูรณาการในภูมิภาค (Adopting a Security-Sensitive Approach to Integration Plans) และ (๓) การเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ (Strengthening Operational Capacity for Border Management) ซึ่งไทยจะรวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ ประมวลผลและนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนอาเซียนที่เป็นรูปธรรมต่อไป
นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับ UNODC จัดการประชุมนานาชาติระดับสูงเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารชายแดนในอาเซียนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งที่ ๕ ที่มุ่งสานงานต่อผลจากการประชุมครั้งที่ ๔ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ