นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภริยา นำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรส จำนวน ๗๑ คน จาก ๔4 ประเทศ และสหภาพยุโรป พร้อมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนจังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ชุมชนท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ ๓๐ มีนาคม – ๑ เมษายน ๒๕๖๒
ระหว่างการเยือนจังหวัดพังงา คณะทูตฯ ได้มีโอกาสศึกษาดูงานเกี่ยวกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ โครงการหมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) ซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นชาวมอแกนที่ประสบพิบัติภัยสึนามิในปี ๒๕๔๗ โดยคณะทูตฯ ได้เยี่ยมชมหมู่บ้านชาวมอแกนที่มีระบบการบริหารจัดการครบวงจรในลักษณะ “พออยู่ พอกิน” ควบคู่ไปกับการศึกษาแนวทางในการฟื้นฟูชุมชน การพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต ร่วมกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้เยี่ยมชมโรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ และโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ นอกจากนี้ คณะทูตฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ทัพเรือภาคที่ ๓ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงเต่าทะเลตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เยี่ยมชมบ่ออนุบาลลูกเต่าทะเลและบ่อพยาบาลเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บ และร่วมกิจกรรมปล่อยลูกเต่าตนุสู่ทะเลอันดามัน รวมทั้งได้เยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมและชมการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ การทำกะปิ ผลิตสบู่และชาจากว่านเหงือกปลาหมอ การจับหอยหลักควาย การทำเรือหัวโทงจำลอง และการทำผ้ามัดย้อม ณ ชุมชนบ้านสามช่องเหนือ ทั้งนี้ คณะทูตฯ ยังได้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่นและรับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ การแสดงโนรา ลิเกฮูลู และรำรองเง็งชาวเล อีกด้วย
ในส่วนของการเยือนจังหวัดภูเก็ต คณะทูตฯ ได้มีโอกาสรับทราบความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ พหุสังคมและศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ตจากการเยี่ยมชมนิทรรศการภูเก็ตนคราและเพอรานากันนิทัศน์ ณ มิวเซียมภูเก็ต และมีความประทับใจในความสวยงามของย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตที่ยังคงรักษาสภาพสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส อันเป็นเอกลักษณ์ของเพอรานากันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ คณะทูตฯ ยังรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ (Marine Tourism) และเรือสำราญ (Cruise Tourism) ในภูมิภาคเอเชีย และการบริหารจัดการท่าเรือยอร์ช ณ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า นอกเหนือจากการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยได้เรียนรู้ความสำคัญของป่าชายเลน และร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปูม้าจากธนาคารปูม้าของชุมชนบ้านท่าฉัตรไชย ณ บริเวณแนวป่าชายเลนชุมชนบ้านท่าฉัตรไชย
คณะทูตฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างประทับใจในความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมต่าง ๆ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้และเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อันเป็นศาสตร์การพัฒนาที่มีความเป็นสากล และช่วยขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้นโยบาย Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals Partnership (SEP for SDGs Partnership) ซึ่งหน่วยงานราชการไทยได้น้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแล้ว ยังได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลายสาขา นอกจากนี้ ยังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดในภาคใต้ของไทยหลากหลายแง่มุม ทั้งด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น คณะทูตฯ ยังได้ประจักษ์และยอมรับบทบาทของประเทศไทยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย
กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินโครงการนำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรสเดินทางไปทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสให้คณะทูตฯ ได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่และอัตลักษณ์ท้องถิ่นของไทย รวมทั้งเปิดโอกาสให้คณะทูตฯ ได้ใกล้ชิดและสานสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นกันเอง
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ