เมื่อวันที่ ๓ – ๔ เมษายน ๒๕๖๒ นายโจเอา อกีอาร์ มาชาโด (Jo?o Aguiar Machado) ปลัดกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านประมง IUU ร่วมกับสหภาพยุโรป (ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in Partnership with the EU) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ เมษายน ๒๕๖๒
นายมาชาโดได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU จนสามารถพัฒนากลไกป้องกันและปราบปรามการประมงผิดกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าของตลาดได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ นายมาชาโดได้แสดงความยินดีต่อการยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๘๘ (C188) ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นการแสดงถึงความตั้งใจของไทยที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานในภาคประมง พร้อมย้ำว่า สหภาพยุโรปต้องการที่จะเป็นหุ้นส่วนกับไทยในการต่อต้านประมง IUU และหวังที่จะร่วมมือและสนับสนุนไทยทั้งในด้านการจัดทำนโยบาย IUU Free-Thailand การจัดทำใบรับรองการจับสัตว์น้ำ รวมไปถึงความร่วมมือต่อต้านประมง IUU ในระดับภูมิภาค โดยนายมาชาโดได้ชื่นชมรัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียนที่มุ่งส่งเสริมนโยบายการต่อต้านประมง IUU ในอาเซียน รวมไปถึงการจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านประมง IUU ร่วมกับสหภาพยุโรปด้วย
ฝ่ายไทยได้ขอบคุณสหภาพยุโรปที่ได้สนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา จนได้รับการปลดใบเหลืองเมื่อ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ และย้ำว่าแม้ปลดใบเหลืองแล้ว ไทยจะร่วมมือกับสหภาพยุโรปต่อไปเพื่อพัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นในทุกด้าน รวมถึงจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะไม่กระทบต่อนโยบายต่อต้านการทำประมง IUU ของไทย เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยได้วางระบบไว้เป็นอย่างดี มีการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุม รวมถึงจัดเตรียมงบประมาณรองรับการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนประสงค์ที่จะยกระดับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทำประมงขึ้นสู่ระดับภูมิภาค และจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระที่สำคัญของอาเซียนต่อไป
อนึ่ง ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านประมง IUU ร่วมกับสหภาพยุโรประหว่าง วันที่ ๔ – ๕ เมษายน ๒๕๖๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) สร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการต่อต้านประมง IUU โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรด้านระบบการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง และผู้แทนจากสหภาพยุโรปมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ (๒) ผลักดันให้เกิดเครือข่ายต่อต้านการทำประมง IUU ในอาเซียน โดยมุ่งหวังให้การประสานงานของเครือข่ายนี้ช่วยให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถแก้ไขปัญหาประมง IUU ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ