เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการหารือเชิงนโยบายของกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๑ (1st Lower Mekong Initiative Policy Dialogue) ณ โรงแรมเรเนซองส์ โดยมีนางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ร่วมกับนายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับสมาชิก LMI ซึ่งประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม ร่วมกับกลุ่มประเทศคู่เจรจาหรือมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลก ได้หารือกันในสาขาความร่วมมือภายใต้ LMI ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยงด้านน้ำ พลังงาน อาหาร และสิ่งแวดล้อม และ (๒) การพัฒนามนุษย์และความเชื่อมโยง ซึ่งที่ประชุมครั้งนี้ได้หารือประเด็นต่าง ๆ เช่น แนวทางการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งการนำ Big Data (ข้อมูลของทั้งภาครัฐและเอกชน) มาใช้ประโยชน์ในการคาดคะเนการเกิดน้ำแล้งและน้ำหลาก แนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงานซึ่งรวมถึงการกำหนดแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม แนวทางความร่วมมือเสริมศักยภาพด้านการศึกษา โดยเฉพาะการยกระดับการศึกษาแบบ STEM ซึ่งรวมถึงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในอนุภูมิภาค และการร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้เสนอกลไกทางการเงินแบบใหม่ เน้นให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และดิจิทัล สำหรับไทยได้เสนอให้มีการพิจารณานำข้อเสนอโครงการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี–เจ้าพระยา–แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) ไปดำเนินการภายใต้กลไกทางการเงินดังกล่าว
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงแผนปฏิบัติการ LMI ฉบับใหม่ สำหรับปี ค.ศ. ๒๐๒๐ – ๒๐๒๕ เช่นการให้แผนฯ มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ ACMECS 2019 – 2023 แนวคิดเพื่อก่อตั้งกองทุน LMI (LMI Special Fund) และการจัดกิจกรรมการฉลองครบรอบ ๑๐ ปี LMI ในช่วงการประชุมรัฐมนตรี LMI ครั้งที่ ๑๑ ที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒
กรอบความร่วมมือ LMI เป็นดำริข้อเสนอของสหรัฐฯ เมื่อปี ๒๕๕๒ ในสมัยที่นาง Hillary Clinton ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านความร่วมมือ ๒ กลุ่มสาขา และประเด็นคาบเกี่ยว (cross-cutting) ๒ ประเด็น ได้แก่ ความเท่าเทียมทางเพศและการส่งเสริมพลังสตรี และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (PPP) กรอบความร่วมมือ LMI มีสมาชิก ๖ ประเทศ และกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Friends of the Lower Mekong – FLM) ซึ่งมีบทบาทในการให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในรูปแบบต่าง ๆ
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ