เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ได้เข้าร่วมงานและกล่าวในช่วงเสวนา "Thailand's Sustainability of Fisheries Industry" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการจัดงาน Seafood Expo Global 2019 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าประมง สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วโลก และผู้บรรยายของไทย ได้แก่ ผู้แทนจากกรมประมง โครงการ Fisheries Improvement Project (FIP) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งได้รับการปลดใบเหลือง โดยในปัจจุบัน การปฏิรูปประมงไทยทั้งระบบได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตปลอดจากสินค้าประมงผิดกฎหมาย โดยผลของการดำเนินการดังกล่าวได้มีส่วนอย่างสำคัญให้เกิดความยั่งยืนของการทำประมงในภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะสานต่อการพัฒนาประมงให้ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยไทยมิได้มุ่งหวังเพียงแค่การปลดใบเหลือง แต่ต้องการที่จะยกระดับการทำประมงเชิงพาณิชย์ทั้งในและนอกน่านน้ำของไทย ให้เข้าสู่มาตรฐานสากล และเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในด้านการประมงกับสหภาพยุโรปและประเทศอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ ดร. ระวี วิริยธรรม ผู้ประสานงานโครงการ Fisheries Improvement Project (FIP) ยังได้เสนอแนวทางการดำเนินการของไทยเพื่อมุ่งสู่การทำประมงอย่างยั่งยืน โดยผ่านโครงการ FIP เช่น โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้า (Thailand Blue Swimming Crab Fishery Improvement Project) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในระยะยาว ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการบริหารจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ น.ส. เสาวลักษณ์ ประทุมทอง และนายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ผู้แทนจากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ย้ำถึงการส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบในการประมงพื้นบ้าน เช่น การจัดทำมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำชาวประมงพื้นบ้าน (Blue Brand Standard) เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่า จะสามารถเลือกซื้อสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงแบบยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง และ ดร. ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้ย้ำถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าประมงเพื่อความยั่งยืน และความพยายามของภาคเอกชนไทยในการผลิตสินค้าประมงอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการดูแลแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงตามมาตรฐานสากล โดยภาคเอกชนไทยได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด
นอกจากการจัดการเสวนาข้างต้นแล้ว คณะผู้แทนไทยยังได้มีโอกาสพบกับนาย Karmenu Vella กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและประมงสหภาพยุโรป ซึ่งได้มาเยี่ยมชมพื้นที่จัดแสดงความก้าวหน้าด้านการประมงที่ยั่งยืนฃองไทยภายในงาน Seafood Expo Global 2019 โดยนาย Vella ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของการปฏิรูปภาคประมงของไทย และย้ำว่า ไทยเป็นประเทศตัวอย่างที่ดีที่ได้พัฒนาระบบการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้การควบคุมและป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการควบคุมและตรวจสอบสัตว์น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหภาพยุโรปที่จะนำเอาเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตจับสัตว์น้ำทั้งระบบในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่การทำประมงอย่างยั่งยืนในระดับสากล ไทยยังมีกำหนดที่จะร่วมกับองค์กร SeaWeb เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SeaWeb Seafood Summit ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำธุรกิจอาหารทะเลที่ยั่งยืนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนจากทั่วโลกด้วย โดยในประชุมดังกล่าว จะเป็นโอกาสสำหรับไทยที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกเกี่ยวกับการพัฒนาประมงสู่ความยั่งยืน และการเดินหน้านโยบาย IUU-Free Thailand เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคจากทั่วโลกต่อไป
ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ