รัฐบาลไทยร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติจัดงานวันสากลในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 18, 2019 13:48 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ รัฐบาลไทย โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) จัดงานวันสากลในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (International Day for the Fight Against Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU DAY) ณ กรมประมง

การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการประมงของไทยทั้งระบบให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมงานฯ ประกอบด้วย คณะทูตานุทูตจากประเทศต่าง ๆ ผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการบริหารจัดการประมง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในวันสากลในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม กล่าวเปิดงาน โดยย้ำถึงความสำคัญของวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ ซึ่งถือเป็นวันที่ข้อตกลงว่าด้วย “มาตรการรัฐเจ้าของท่า”มีผลผูกพันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ และข้อตกลงดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับ “รัฐเจ้าของเมืองท่า” ได้ว่า สัตว์น้ำที่มาจากการทำประมง IUU จะไม่สามารถนำขึ้นท่าได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคที่จะหยุดยั้งการทำประมง IUU โดยไทยได้ผลักดันการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการต่อต้านการทำประมง IUU เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายประสานงานร่วมกัน รวมทั้งพร้อมที่จะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการสร้างกลไกในการขจัดการทำประมง IUU

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการประมงที่มีความรับผิดชอบ โดยดำเนินการผ่านการปฏิรูปการประมงและการกำหนดให้มีการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยคำนึงถึงการประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ (Maximum Sustainable Yield – MSY) และการมีระบบควบคุมกองเรือที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ทรัพยากรประมงของไทยกลับคืนมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ และเกิดความยั่งยืนอีกครั้ง นอกจากนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิต ผู้แปรรูปสัตว์น้ำ และผู้นำเข้าผลผลิตสัตว์น้ำหลักของโลกยังได้ประกาศนโยบาย IUU-Free Thailand เพื่อส่งเสริมการประมงและสินค้าประมงที่ไม่ได้มาจากการทำประมง IUU ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals - SDGs) เป้าหมายที่ ๑๔ ด้วย

นอกจากนี้ ผู้แทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น (International Organization for Migration – IOM) และผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา มัลดีฟส์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ยังได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยย้ำถึงความสำคัญต่อการขจัดการทำประมง IUU และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อป้องกันปัญหาด้านทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม

อนึ่ง ตลอดช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อาทิ การผลักดันนโยบายประมงร่วมอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) การเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการบริหารจัดการมวลปลาที่ย้ายถิ่น (United Nations Fish Stock Agreement - UNFSA) ข้อตกลงว่าด้วยการทำประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement - SIOFA) รวมถึงการลงนามความร่วมมือในการต่อต้านปัญหาการทำประมง IUU กับประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อวางรากฐานการทำประมงอย่างยั่งยืน และยืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมกับประชาคมโลกในการรักษาทรัพยากรทางทะเล และนำพาการประมงของประเทศและโลกไปสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ประชากรของโลกต่อไป

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ